http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

แนวการฟื้นฟูในช่วงต้นหลังน้ำลด โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

บทความ

แนวการฟื้นฟูในช่วงต้นหลังน้ำลด โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ความสำเร็จของแผนบูรณะหลังภัยพิบัติ จะขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า นับจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 64 จังหวัด โดยมีจังหวัดที่น้ำยังท่วมอยู่ 24 จังหวัด และมีจังหวัดที่อยู่ระหว่างฟื้นฟู 40 จังหวัด

และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Strategic Committee for Reconstruction and Future Development (SCRF) โดยมีหน้าที่หลักในการระดมความคิดเห็นและความรู้เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาวเสนอแก่รัฐบาล รวมถึงข้อเสนอในการจัดตั้งองค์กรถาวร วิธีการบริหารจัดการ การบริหารการเงิน การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน การเสนอแนวทางการปฏิบัติราชการแผ่นดินในการฟื้นฟูและพัฒนา ฯลฯ

การกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบการทำงาน และแผนการฟื้นฟู จำต้องอาศัยการประเมินความเสียหายและความสูญเสียในภาพรวม เป็นข้อมูลตั้งต้น ทั้งนี้ แผนการฟื้นฟูควรมุ่งไปยังการบูรณะชุมชนให้กลับคืนสภาพ ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกที่ชุมชนต้องอาศัยการพึ่งพาจากภายนอก และให้มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ชุมชนเป็นเจ้าภาพ เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจหลักที่ทำให้การฟื้นฟูเกิดผลสัมฤทธิ์

มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ความสำเร็จของแผนบูรณะหลังภัยพิบัติ จะขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ (Narayan, 2001) โดยผลดีของการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การสะท้อนปัญหาที่เป็นจริง ได้โจทย์ที่แม่นยำสำหรับการฟื้นฟู และรู้ชัดถึงลำดับความสำคัญ รวมทั้งการลดข้อขัดแย้งและขจัดความซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นภาระต้นทุนดำเนินการที่หลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่ต้น ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาต่อโดยชุมชนหลังสิ้นสุดระยะการฟื้นฟูตามโครงการ

ในส่วนของภาครัฐ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีความทับซ้อนในแผนการฟื้นฟูระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หรือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่ความซ้ำซ้อนในการจัดสรรงบประมาณ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง มีบทบาทนำในการประสานงาน การบริหาร การวางแผน และการตัดสินใจตามข้อปฏิบัติที่ดี (เช่น มีการประเมิน มีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม)

ในส่วนของภาคเอกชน นอกจากบทบาทของการให้ทุนสนับสนุนในแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมฟื้นฟูต่างๆ องค์กรธุรกิจยังสามารถคิดแผนการจ้างงานทั้งชั่วคราวและประจำให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ หรือการวางแผนจำหน่ายสินค้าและบริการในราคาทุนให้แก่ชุมชนในช่วงฟื้นฟู หรือการให้เครดิตการค้าและให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยต่ำแก่คู่ค้า ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของภาคประชาสังคม แม้บทบาทของเอ็นจีโอส่วนใหญ่จะได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ทำงานสืบเนื่องมาจนถึงช่วงการฟื้นฟู โดยจุดแข็งของเอ็นจีโอเหล่านี้ ได้แก่ ความชำนาญในพื้นที่และรู้จักชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการทำงานฟื้นฟูในพื้นที่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับกรอบเวลาของระยะการฟื้นฟู โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงเวลา 1 ปี และเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการบูรณะเป็นเวลา 3 ปี สืบเนื่องจนเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาในระยะยาว

 

 ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/pipat/20111117/419964/แนวการฟื้นฟูในช่วงต้นหลังน้ำลด.html

 

 

aphondaworathan