แผนอาสา CSR ในช่วงประสบภัย โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความแผนอาสา CSR ในช่วงประสบภัย โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
นี่คือแนวทางในการสร้างข้อผูกพันร่วมกับพนักงานต่อการตอบสนองภัยพิบัติไว้ 8 ประการภายใต้ตัวย่อ RESPONSE
บทความนี้เป็นชิ้นที่ 3 ในชุดบทความสนับสนุนองค์กรธุรกิจที่เข้าช่วยเหลือสถานการณ์ในช่วงเผชิญเหตุ (Response) อุทกภัยที่กำลังแผ่ขยายวงกว้าง สร้างผลกระทบกับธุรกิจและครัวเรือนจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าผู้ประสบภัยตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะยังคงต้องอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมไปอีกนานนับเดือน
ความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจยามนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาครัฐและภาคประชาสังคมโดยรูปแบบของความช่วยเหลือ มีทั้งที่เป็นเงินและสิ่งของ รวมทั้งการอาสาช่วยเหลือในระดับต่างๆ ตั้งแต่กิจกรรมที่เห็นเบื้องหน้า เช่น การช่วยบรรจุและวางแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ การช่วยบรรจุและนำส่งสิ่งของเครื่องยังชีพแก่ผู้ประสบภัย การช่วยเหลืออพยพผู้ประสบภัย และกิจกรรมที่อยู่เบื้องหลัง เช่น การติดตั้งและวางระบบช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่างๆ งานวิชาการสนับสนุนการตัดสินใจที่ตอบสนองอุบัติการณ์ในกรณีต่างๆ การใช้ทักษะในวิชาชีพต่างๆ มาอาสาช่วยงานในช่วงเผชิญเหตุนี้โดยไม่คิดค่าวิชาชีพ (หรือที่เรียกว่า Pro Bono Engagement)
ในเอกสาร “The Role of Employee Engagement in Disaster Response: Learning from Experience” ที่จัดทำขึ้นโดย Business in the Community (BITC) และ International Business Leaders Forum (IBLF) ได้ให้แนวทางในการสร้างข้อผูกพันร่วมกับพนักงานต่อการตอบสนองภัยพิบัติไว้ 8 ประการภายใต้ตัวย่อ RESPONSE ซึ่งมีประโยชน์ต่อองค์กรและพนักงานที่กำลังอาสาเข้าให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
Review – พิจารณาทบทวนแผนงานขององค์กรในปัจจุบันและประสบการณ์ที่ได้รับก่อนหน้า การดำเนินการทบทวนและกำหนดนโยบายการเผชิญเหตุภัยพิบัติ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในครั้งต่อๆ ไปขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
Engage – ใช้จุดแข็งและสมรรถภาพหลักในการเข้าช่วยเหลือ การจัดโครงสร้างของแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ โดยการดึงศักยภาพของบรรดาหัวกะทิและประสบการณ์ของพนักงานในบริษัทมาทำงานอาสาที่เหมาะสม ซึ่งจะยังประโยชน์ได้มากกว่าการอาสาในแบบทั่วไป
Secure – ขวนขวายเพื่อให้ได้คำมั่นจากผู้บริหารระดับสูง การสนับสนุนทางการเงินในเหตุภัยพิบัติต้องมีแรงโน้มน้าวหลักจากการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดในองค์กร และเป็นการเพิ่มน้ำหนักในแผนงานตอบสนองภัยพิบัติที่จะดำเนินการ
Prepare – ตระเตรียมนโยบายและวางระบบสนับสนุนแผนผูกพันพนักงานในการตอบสนองภัยพิบัติ อาทิ นโยบายกองทุนช่วยเหลือ เงินสมทบ วันลาพิเศษ ระบบการประเมินความต้องการสำหรับความช่วยเหลือในช่วงภัยพิบัติ การแสวงหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนที่จะดำเนินการ เพื่อที่จะตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลสูง
Organise – จัดระบบประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากการปฎิบัติงานในช่วงเผชิญเหตุเต็มไปด้วยความเสี่ยง องค์กรจึงจำเป็นต้องจัดให้มีระบบประเมินฯ การป้องกัน และกรมธรรม์ประกันภัยที่เพียงพอในการรองรับแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ
Negotiate – เจรจาทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรร่วมดำเนินงานอื่นๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานสนับสนุนทั้งการให้บริการ การระดมความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในระยะยาว หลังจากช่วงการเผชิญเหตุผ่านพ้นไป
Structure – จัดระเบียบและโครงสร้างในการเผชิญเหตุ ตามกรอบของบทบาทและความรับผิดชอบในพื้นที่ครอบคลุม อาทิ ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และในสำนักงานใหญ่ โดยมีการมอบหมายพนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับ สอดรับกับพื้นที่ครอบคลุม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงาน
Evaluate – ประเมินวิธีการดำเนินงานและความช่ำชองในการสื่อสาร ซึ่งความท้าทายสำคัญขององค์กรในการเข้าช่วยเหลือในช่วงเผชิญเหตุ คือ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และการรายงานผลการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เพียงแต่การให้ความช่วยเหลือต้องมีประสิทธิผลยิ่งแล้ว การสื่อสารรายงานก็ต้องดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ด้วย เนื่องเพราะการสื่อสารที่ดีจะช่วยปลุกเร้าให้เกิดความช่วยเหลือและการอาสาของพนักงานภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและเพิ่มภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรไปพร้อมกัน