แนวร่วม ISO 26000 โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความแนวร่วม ISO 26000 โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
การขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมให้สำเร็จในภาพรวม ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง แต่ต้องการทำงานในแบบแนวร่วม หรือ Collective Action
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการมาตรฐานแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก ISO ได้จัดทำข้อตกลง (MoU) แนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) กับสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมจากเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย
ประเทศไทยเอง มีคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1004 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทำหน้าที่ในลักษณะ National Mirror Committee พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อ ISO/WG SR (Social Responsibility) ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO รวมทั้งกำหนดแนวทางและวิธีการในการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย
ด้วยกระแสของการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตควบคู่กับการเป็นที่ยอมรับจากสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development: SD) เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นสำหรับองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน อีกทั้งมาตรฐาน ISO 26000 ได้ถูกระบุให้เป็นแนวในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ – สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน จึงทำให้องค์กรธุรกิจไทยจำต้องเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางที่สากลยอมรับและการเปิดตลาดเสรีในระดับภูมิภาคอาเซียนในอีกไม่ถึง 4 ปีข้างหน้า
ด้วยเหตุที่การขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมให้สำเร็จในภาพรวม ไม่สามารถพึ่งพาเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยลำพังได้ แต่จะต้องอาศัยการสอดประสานการทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งในสายอุปทาน (Supply Chain) และในสายคุณค่า (Value Chain) ตลอดกระบวนการ
บทเรียนที่จับต้องได้ คือ แม้ตัวองค์กรที่เรากำกับดูแลอยู่ จะมี CSR ดีเลิศเพียงใดก็ตาม แต่หากมีผู้ส่งมอบแม้เพียงรายเดียว ส่งมอบวัตถุดิบที่มีปัญหาเข้าสู่กระบวนการผลิต จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้แล้วเกิดปัญหา ตัวองค์กรก็จะพลอยได้รับผลกระทบและทำให้ CSR ที่ดีอยู่นั้น ด่างพร้อยไปต่อหน้าต่อตา ตัวอย่างในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร มีให้เห็นกันอยู่เนืองๆ
ด้วยเหตุนี้ การทำงานในแบบแนวร่วม หรือ Collective Action จึงเป็นหนทางในการป้องกันและลดความน่าจะเป็นของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรตนเองในที่สุด
แนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกริเริ่มขึ้น เพื่อเกื้อหนุนองค์กรธุรกิจให้เข้ามีส่วนร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มสมรรถนะการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมทั้งการเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่ธุรกิจระหว่างคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และเน้นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติ (Practices) ตามข้อแนะนำ (Guidance) ที่เป็นเจตนารมณ์ของ ISO 26000 มิใช่ด้วยการจัดทำและแสดงเอกสาร (Papers) ให้ได้ตามข้อกำหนด (Requirements)
วันนี้ เรามีผู้ที่อาสาเข้ามานำแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ในสาขาโทรคมนาคม อย่าง ดีแทค ในสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อย่าง พฤกษา เรียลเอสเตท และในสาขาพลังงาน อย่าง บางจากปิโตรเลียม ทำให้คาดหมายได้ว่า จากนี้ไปเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสายอุปทานและในสายคุณค่าของธุรกิจในสาขาเหล่านี้ ด้วยเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสากลอย่าง ISO 26000 ในไม่ช้า
องค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าได้จากสถาบันไทยพัฒน์ (thaipat.org) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (tisi.go.th)