อุตสาหกรรมสีเขียว โรงงานสื่อสารกับชุมชนได้
บทความอุตสาหกรรมสีเขียว โรงงานสื่อสารกับชุมชนได้
กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมคือต้นเหตุสำคัญของการสร้างมลพิษ โดยเฉพาะ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน วิธีปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดมลพิษต่าง ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการมาช่วยได้ แนวทางการสร้างเครือข่ายสีเขียว เพื่อการพัฒนอุตสาหกรรมที่สมดุลและยั่งยืนถือเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดงานพิธีมอบใบรับรอง “อุตสาหกรรมสีเขียว” และจัดงานเสวนา เรื่อง บทบาทของ GREEN CEO ในการขับเคลื่อนสู่กรีนอินดัสทรี (GREEN INDUSTRY)
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงเร่งเดินหน้าโครงการ “อุตสาหกรรมสีเขียว” ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน คือการทำให้โรงงานสามารถสื่อสารกับชุมชนได้โดยตรง รับฟังความคิดเห็นของชุมชนมากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ธุรกิจด้วย
“ทุกวันนี้โรงงานจะต้องไม่ทำให้ชุมชนมองว่าเราเป็นผู้ร้ายที่มุ่งหวังแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่เราควรจะพยายามผูกมิตร ช่วยเหลือจุนเจือสังคมรอบข้างตามกำลังความสามารถของโรงงาน เพราะโรงงานที่อยู่รอดและเติบโตต่อจากนี้ไป จะมีแต่โรงงานที่เล่นบทพระเอกเท่านั้น”
ด้าน ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เหล่าซีอีโอของภาคอุตสาหกรรมถือเป็นแนวร่วมที่จะร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมสีเขียวประสบความสำเร็จ อุตสาหกรรมสีเขียวเป็นแค่จุดเริ่มต้นของนโยบายของกระทรวงที่จะผลักดันให้ภาครัฐและภาคเอกชนใส่ใจกับการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอยู่ร่วมกันได้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ การพัฒนาเอสเอ็มอี และรัฐวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตและแข่งขันได้ในยุคของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่ประเทศมีศักยภาพ เช่น หัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงวิธีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ว่า ทำให้พื้นที่เป็นเมือง สมาร์ทซิตี้ หมายถึงทำให้คนทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมได้ เป็นเมืองประหยัดพลังงาน และจัดสรรให้มีพื้นที่สีเขียว มีเขตกันชนระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน มีระยะห่าง 120 กิโลเมตร และใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ติดตั้งกังหันลม นำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 850 แห่ง หลังคาของโรงงานที่หันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
“นิคมสามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะและระบบลมร้อนจากแอร์ มาผลิตไฟฟ้าได้ 400 เม กะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์คาดว่าปีหน้า จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 400 เมกะวัตต์”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวต่อว่า แนวคิดต่อยอดทางธุรกิจของอมตะคือสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ในอมตะและขายความรู้เรื่องของการแปรรูปพลังงานของเสียให้นำกลับมาใช้ได้ใหม่ จะทำในลักษณะวิจัยและพัฒนามากขึ้น ปรับเปลี่ยนจากฐานการผลิตเป็นฐานการคิด
ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงการเติบโตของโตชิบา ว่า ปัจจุบันโตชิบาอยู่คู่กับสังคมไทยมา 43 ปี เริ่มต้นจากด้วยความศรัทธา ครั้งที่บุกเบิกใช้คำว่าสวนอุตสาหกรรมไม่ใช้คำว่าเขตอุตสาหกรรม ด้วยเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้คืออุตสาหกรรมต้องอยู่กับคนได้ ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ภายใต้นโยบาย 5 กรีน ผลิตภัณฑ์ของโตชิบาจะประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ สิ่งที่เห็นได้ชัด 5 ปีที่ผ่านมาตัวอย่างเช่นทีวี เซอร์กิตบอร์ดของโตชิบาจะเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะรู้ดีว่าอุปกรณ์ตัวนี้เป็นขยะพิษ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกรีนโปรดักส์ นอกจากนี้ยังมีกรีนเซอร์วิสหรือการบริการ สินค้าบางตัวที่หมดอายุการใช้งานเช่นโน้ตบุ๊ก บริษัทจะรับมาแยกชิ้นส่วนออกมาเพื่อรีไซเคิล และกำจัดทิ้งบางชิ้นส่วนโรงงานที่ประเทศไทยทำไม่ได้ต้องนำเข้าโรงงานที่สิงคโปร์
“แม้แต่หลอดไฟก็นำมารีไซเคิลยังโรงงาน แต่ปัญหาตอนนี้โรงงานกำลังการผลิตเต็ม” ผู้บริหารโตชิบาบอกเล่า
ด้าน นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นผลิตภัณฑ์จากระดาษทั้งหลายเล่าว่า พบว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถ้ามีราคาเท่ากับสินค้าปกติคนจะซื้อ แต่ถ้าแพงกว่าไม่ซื้อ เรื่องนี้จะต้องวิจัยและพัฒนาสินค้าไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเอสซีจีมียอดขาย 50,000 ล้านบาท
วันนี้การเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดภาพของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” ขึ้นในประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับประเทศแรก ๆ ของโลกที่จะเป็นตัวอย่างของการเกิด กรีนอินดัสทรี อย่างเป็นรูปธรรม แต่ที่สุดแล้วต้องเริ่มจากศรัทธาของผู้ประกอบการก่อน
ที่มา : เดลินิวส์