http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

เปิดเผยและโปร่งใส อีกสไตล์ของความรับผิดชอบ

บทความ

เปิดเผยและโปร่งใส อีกสไตล์ของความรับผิดชอบ     

โดย อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน


ทำไมช่วงนี้ผมถึงได้เน้นประเด็นความโปร่งใส เพราะผมเชื่อว่าเป็นประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญประเด็นหนึ่งในขณะนี้ ขณะที่ช่องว่างความเชื่อมั่นระหว่างคนในชาติทั้งในระดับบุคคล กลุ่มคน องค์กร สถาบันห่างกันมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

ขอย้ำนะครับว่า การสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเป็นความ รับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ที่องค์กรควรกระทำอย่างยิ่งยวด อันนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะการเปิดเผยด้านการเงินกับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่รวมถึงการเปิดเผยด้านอื่น ๆ เช่น การผลิต การบริหารจัดการ เป็นต้น

แต่พอพูดถึง CSR เรากลับไปมุ่งเน้นการเปิดเผยด้านการสนับสนุนสังคมเป็นส่วนใหญ่ว่าองค์กรไปสนับสนุนโครงการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ปลูกโน่นปลูกนี่กันเป็นแถว โดยละเลยถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่ควรเปิดเผยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหลือ ที่สำคัญเรื่อง ที่ไม่ค่อยจะเปิดเผยกันมักจะเป็นความ รับผิดชอบหลักของตนเองซะด้วย

การเปิดเผยข้อมูลดีอย่างไร ทุกวันนี้เราเองก็ได้เห็นว่าคนที่มีผลกระทบกับเราเป็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มใหม่ ๆ ที่ธุรกิจเคยมองว่าไม่มีทางที่จะทำอะไรกับเราได้ แต่วันนี้กลับหยุดธุรกิจได้ชนิดที่ว่าผู้ถือหุ้นก็เผ่นกระจายเหมือนกัน

แล้วความรับผิดชอบด้านการพัฒนาชุมชน การปลูกป่าหรืออะไรก็ตาม ช่วยไม่ได้นะครับ ต้องให้ถูกเรื่องถูกคน อย่าหาว่าพูดซ้ำพูดซาก ที่อยากพูดเพราะก็ยังเจอประเด็นว่าการช่วยเหลือชุมชน (อย่างเดียว) จะทำให้องค์กรผมดี จะยั่งยืน ผมถามว่าแล้วชุมชนที่ให้ทุน จะไปทำให้คุณรอดจากการประท้วงได้อย่างไร ถ้าอีกชุมชนเขายังไม่เชื่อว่ากระบวนการ

ผลิตของคุณปลอดภัย หรือมีคุณค่าพอสำหรับพวกเขา

นอกจากอยากจะย้ำแล้ว พอดีได้ชมรายการ "คนค้นฅน" ของทีวีบูรพาที่นำเรื่องการแสวงหาแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซของบริษัท ปตท.สผ. ที่เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเรียบง่าย แต่น่าตื่นเต้น น่าภาคภูมิใจ ดูแล้วอยากจะบอกว่า นี่แหละ เปิดเผยได้ถูกเรื่อง ถูกคนและถูกใจ ปกติที่ผ่านมาคนแยกไม่ค่อยออก จำก็ไม่ได้ว่า ปตท.สผ.คือใครทำอะไร คนส่วนใหญ่จำรวม ๆ เป็น ปตท.ไปทั้งหมด

ผมว่า ปตท.สผ.คิดถูกที่นำเรื่องการดำเนินงานของตัวเองมาออกโทรทัศน์ แล้วได้ทีวีบูรพาซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่ถือว่าดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมในตัวเองอยู่แล้ว เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือ มีทักษะในการสื่อสารที่ทำให้เข้าถึงคนทั่วไปอยู่แล้ว

สมัยก่อนถ้ามีเพื่อนมาบอกว่าสอบติดธรณีวิทยา เออ...แปลว่าอะไร จะไปเรียนอะไรเรื่องหินเรื่องดิน จบมาจะทำอะไร แต่เมื่อชมรายการนี้แล้ว หลาย ๆ คนคงได้รู้ถึงความสำคัญของนักธรณี นักธรณีฟิสิกส์ วิศวกรขุดเจาะ วิศวกรปิโตรเลียม ผมเหลือบ ๆ อ่านข้อความที่ส่งมา คาดว่าเป็นเด็ก ๆ นักเรียนหลายคนที่บอกว่าเพิ่งถึงบางอ้อ และก็มองว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก ๆ ดูดีเท่ น่าภาคภูมิใจที่เป็นผู้เสาะแสวงหาพลังงานให้กับประเทศ

ดูเผิน ๆ มันเหมือนกับการประชาสัมพันธ์ แต่ผมมองว่ามันแตกต่าง เพราะถ้า ปตท.สผ.เลือกประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเรื่องนกเงือก ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ มาบอกว่าเราเป็นองค์กรที่มี CSR รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการดูแลนกเงือก กับที่เราบอกถึงความรับผิดชอบต่อประเทศในการแสวงหาพลังงานที่ทำให้เกิดธุรกิจนี้ให้สังคมทราบ ให้เห็นถึงกระบวนการสำคัญว่าเป็นอย่างไร แล้วการดำรงอยู่ของเรา นอกเหนือจากความรับผิดชอบหลักแล้วยังได้ช่วยกันฟูมฟักรักษามรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างไร น่าจะทำให้สังคมเข้าใจถึงความรับผิดชอบหลักและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเราได้อย่างชัดเจน

การเปิดเผยข้อมูลเป็นวิธีการที่นำไปสู่ความโปร่งใสขององค์กร นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับประเด็นของการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม

แน่นอนครับว่าการให้ข้อมูลการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ แต่ยังต้องไปคานกับข้อมูลด้านผลของการปฏิบัติด้วย ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ทำให้ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคม ทำให้สังคมเข้าใจว่าธุรกิจนั้นมีความรับผิดชอบที่สำคัญกับการดำรงอยู่ของเรา ความสะดวกสบายและความเจริญก้าวหน้าของสังคม มีการปฏิบัติที่เข้าใจได้ถึงความรับผิดชอบในความมั่นคงของสังคมและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มีผลลัพธ์และผลที่ตามมาที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลจากกระบวนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

ความเชื่อถือที่ได้รับจากสังคมนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับองค์กรตลอดเวลา สังคมจะเข้ามาช่วยกันปกป้อง สนับสนุนค้ำจุนให้องค์กรอยู่รอดต่อไปในเวลาที่เกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม พร้อมจะเข้าใจและยอมรับได้ถึงความผิดพลาดจากกระบวนการปฏิบัติที่ได้แสดงให้สังคมประจักษ์ว่า ได้มีความระมัดระวังสูงสุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

ต้องระวังครับ อย่าให้สังคมเกิดการคาดเดาไปเองเป็นอันขาด เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วมันมีความแตกต่างกันมากครับ

ให้ข้อมูลก่อนเกิดเรื่องมันคือ "การเปิดเผย" ชี้แจงทำความเข้าใจ แต่ถ้าให้ข้อมูลหลังเกิดเรื่องมักจะถูกเรียกว่า "แก้ตัว" ครับ แต่สำหรับวันนี้ผมว่า ปตท.สผ. ฉลองวันเกิดครบรอบเบญจเพส 25 ปีได้ดีทีเดียวครับ

 

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4220  ประชาชาติธุรกิจ

 

aphondaworathan