http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

CSR-DIW 2554 เทียบชั้น ISO 26000 ก้าวสู่ Sustainable Development

บทความ

CSR-DIW 2554 เทียบชั้น ISO 26000 ก้าวสู่ Sustainable Development

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้ริเริ่มโครงการ CSR-DIW ขึ้น เพื่อเดินหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ทุกขนาดทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อม และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้มีการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางสากล ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการยอมรับและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ทั้งภายในประเทศ และในระดับสากล

 นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551-2553 ซึ่งมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการและได้รับเกียรติบัตรแล้วกว่า 250 แห่ง โดยมาตรฐานมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลของมุมมองด้านการกำกับดูแล เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ใส่ใจแรงงาน ดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค การทำการค้าอย่างโปร่งใส และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ตามแนวทางของมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบ (ISO 26000: 2010 Social Responsibility) ซึ่งในปี 2554 นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอก็ได้มีการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการ และได้รับการสนับสนุนจนได้รับรางวัล CSR-DIW Awards 2554 ถึง 117 แห่ง

โดยปีนี้กิจกรรมในโครงการจะให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันกับชุมชน และสังคมอย่างมีความสุข โดยโครงการได้กำหนดให้สถานประกอบการทุกแห่งต้องจัดทำแผนงานร่วมกับชุมชน โดยมีเงื่อนไขคือ 1. แผนงานควรมีความสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ หรือขีดความสามารถขององค์กร 2. พนักงานมีส่วนร่วม 3.ชุมชนมีส่วนร่วม 4. สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัลในปีนี้ นับได้ว่า เป็นสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO 26000 : Guidance on Social Responsibility แล้วทั้งสิ้นนับเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริงด้วยการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชน พร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อาทิ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) โรงงานอาหารสัตว์ท่าเรือ มีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างกลุ่มอาชีพสหกรณ์บัวงาม ผลิตไข่เค็มใบเตยจำหน่ายสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเซี่ยนแพคเกจจิ้งแอนด์แคนนิ่ง จำกัด (โรงงานสมุทรปราการ) จัดโครงการ เช้าท์อีสต์ ร่วมใจ ห่วงใยชุมชน ถีบจักรปลดหนี้ที่ชุมชนบ้านมั่นคงสามห่วง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมอาชีพให้กับแม่บ้านในชุมชน ผลิตถุงผ้าลดโลกร้อน ผ้าปิดจมูก และเอี๊ยมพลาสติก น้ำยาล้างจาน ส่งขายในโรงงานและสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นต้น

ผลจากการดำเนินงานโครงการในครั้งนี้ ทำให้เกิดแผนงานร่วมกันกับชุมชน กว่า 300 แผนงานตามกรอบแนวทางของความยั่งยืนที่จะทำให้สถานประกอบการกับชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางสากล Global Reporting Initiative (GRI) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ผู้สนใจสามารถติดตามผลงาน และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ได้ที่ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โทร. 0-2617-1727 ต่อ 811-815 หรือทางเว็ปไซด์ www.csrdiwnetwork.com

 

aphondaworathan