CSR ในนโยบายรัฐบาล โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความCSR ในนโยบายรัฐบาล โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
CSR ซึ่งปรากฎในนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ ว่าด้วยหลักการการลดการใช้ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)
ก็เป็นอันว่ารัฐบาลได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย โดยสาระสำคัญของนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน คือ การดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาทอย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก เป็นต้น
ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง คือ การออกมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้แรงงานและบุคลากรสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษี และรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
สำหรับนโยบายที่จะดำเนินการภายในวาระการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่งปรากฎอยู่ในนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
การเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ลดการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยหลักการการลดการใช้ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)
การเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบสภาวะแวดล้อม และพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Town) ที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
การกำหนดมาตรฐานและคุณภาพขั้นพื้นฐานของสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการยอมรับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าร่วมกันในกลุ่มอาเซียน
นอกจากนี้ เรื่อง CSR ยังได้รับการระบุอยู่ในส่วนของนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการที่ดีในภาคเอกชน โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบกิจการที่โปร่งใส และสนับสนุนให้ภาคเอกชนยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคมโดยการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรม ตลอดจนป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
จะว่าไปแล้ว CSR ในนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะมีรายละเอียดมากกว่านโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ระบุเพียงว่า ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการและสิ่งแวดล้อม
สำหรับท่านที่สนใจจะอ่านนโยบายรัฐบาลฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/govpolicy ครับ