http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 2)

บทความ

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 2)

โดย ไทยแลนด์อินดัสตรี้ดอทคอม

 กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์  kitroj@yahoo.com

ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม

คำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility (SR) ได้มีการนำมาใช้กันตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะนำมาใช้กันในภาคธุรกิจ จึงทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) มากกว่าคำว่า SR (Social Responsibility) โดยในช่วงแรก ความรับผิดชอบต่อสังคม จะเน้นไปที่กิจกรรมของการให้ หรือการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ ในเวลาต่อมาจึงได้มีการขยายการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบคลุมไปถึงประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นด้านการปฏิบัติต่อแรงงาน การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การปกป้องผู้บริโภค และการต่อต้านทุจริตและคอรัปชัน ซึ่งอาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นได้อีก ตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ จากกระแสโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนารูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัย ส่งผลให้การตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถรับรู้ได้โดยบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่อยู่ในระยะใกล้ และระยะไกลจากสถานที่ตั้งขององค์กร รวมถึงนโยบาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่องค์กรได้มีการนำมาใช้ ก็จะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งโดยบุคคลและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรในการเข้ามามีบทบาทต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น ความคาดหวังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของสังคมที่มีต่อสมรรถนะขององค์กร การที่ชุมชนมีสิทธิในการรับรู้ถึงข้อกฏหมาย รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้โดยละเอียด เกี่ยวกับการตัดสินใจและกิจกรรมของบางองค์กร นอกจากนั้น ความจำเป็นในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Report) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานขององค์กร

คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือความเต็มใจขององค์กรที่จะดำเนินการต่าง ๆ โดยมีการนำประเด็นทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มาประกอบการตัดสินใจและการดำเนินการ การแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีจริยธรรม นอกจากนั้น จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวปฏิบัติสากลที่เป็นที่ยอมรับด้วย

ความรับผิดชอบต่อสังคมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีการเผยแพร่แนวความคิดนี้ ในปี 1987 จากรายงานของคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า Our Common Future ระบุว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของคนในรุ่นถัดไปในการตอบสนองต่อความต้องการในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (ดังแสดงในรูปที่ 1) ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีการเชื่อมโยงและมีผลกระทบซึ่งกันและกันด้วย

รูปที่ 1 แสดงองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แนวความคิดทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ยังได้รับการเน้นย้ำมาอย่างต่อเนื่อง ในวงสัมมนาหรือการประชุมระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ในปี 1992 และการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2002 ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม และโลกใบนี้ ไม่ใช่ความยั่งยืนหรือความอยู่รอดของบุคคล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น

ส่วนความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นสิ่งที่องค์กร มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใกล้เคียงกันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จะแสดงถึงความคาดหวังของสังคมที่องค์กรจะต้องนำมาพิจารณาในกำหนดวัตถุประสงค์โดยรวมของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

แนวปฏิบัติพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม

ในส่วนของแนวปฏิบัติพื้นฐานของความรับผิดต่อสังคม ตามมาตรฐาน ISO 26000 นี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม และการระบุและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม

การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม จะประกอบด้วย การระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น กับการมีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังครอบคลุมไปถึงการเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยองค์กรจะต้องเคารพและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรด้วย

รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ขององค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคม

จากรูปที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ 3 รูปแบบ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม องค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย และผู้มีส่วนได้เสียกับสังคม

องค์กรกับสังคม โดยองค์กรจะต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าใจในความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้น โดยการพิจารณาจากหัวข้อหลัก (Core Subjects) และประเด็นสำคัญต่าง ๆ (Issues) ของความรับผิดชอบต่อสังคม

องค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยองค์กรจะต้องตระหนักถึงความหลากหลายของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร

ผู้มีส่วนได้เสียกับสังคม โดยองค์กรจะต้องทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากองค์กร กับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ถึงแม้ว่าผู้มีส่วนได้เสียจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่ต้องการก็อาจจะไม่สอดคล้องกันกับความคาดหวังของสังคมก็ได้

ดังนั้น ในการยอมรับถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม องค์กรจะต้องมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ทั้ง 3 รูปแบบเป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ผู้มีส่วนได้เสียและสังคม ต่างก็มีความต้องการและมุมมองทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไป

นอกจากนั้น ความมีประสิทธิผลของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจะเกิดขึ้นได้ เมื่อองค์กรได้มีการศึกษา และทำความเข้าใจถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 7 หัวข้อหลัก (Core Subjects) ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี สิทธิมนุษยชน ข้อปฏิบัติทางด้านแรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ความใส่ใจต่อผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยหัวข้อหลักต่าง ๆ เหล่านี้ จะครอบคลุมถึงผลกระทบหลัก ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่กำหนดขึ้นโดยองค์กร

ในแต่ละหัวข้อหลัก จะมีการระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรจะดำเนินการและคาดหวังถึงแนวทางที่องค์กรควรจะมี ดังนั้น องค์กรควรจะมีการทบทวนหัวข้อหลักทั้งหมด เพื่อระบุถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการโดยการประเมินความสำคัญของผลกระทบขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การยอมรับในความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของการตัดสินใจและกิจกรรม โดยเฉพาะในขั้นตอนของการวางแผนของกิจกรรมใหม่ ๆ ส่วนกิจกรรมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะได้รับการทบทวนตามความจำเป็นด้วย

ขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ

ขอบเขตอิทธิผลและผลกระทบ หรือ Sphere of Influence จะหมายถึง ขอบเขตของความสัมพันธ์ทางการเมือง ข้อสัญญา เศรษฐกิจและอื่น ๆ ที่องค์กรมีขีดความสามารถในการสร้างผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือกิจกรรมของบุคคลหรือองค์กรอื่น

ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรม ผ่านการควบคุมทั้งอย่างเป็นทางการ และโดยพฤตินัย ซึ่งการควบคุมโดยพฤตินัย จะหมายถึง สถานการณ์ที่องค์กรหนึ่ง ๆ มีขีดความสามารถในการชี้นำการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจทางกฏหมาย หรืออำนาจอย่างเป็นทางการก็ตาม

โดยขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ จะประกอบด้วยความสัมพันธ์ทั้งภายในองค์กร และที่เหนือกว่าห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่ทั้งหมดของห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิผล และผลกระทบเสมอไป นอกจากนั้น อาจจะรวมไปถึงกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรข้างเคียง หรือคู่แข่งด้วย

เมื่อทำการประเมินถึงขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ รวมถึงพิจารณาหน้าที่ความรับผิดชอบได้แล้ว องค์กรควรจะมีการดำเนินการตรวจสอบสถานะปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบในทางลบจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ทั้งนี้ องค์กร ยังต้องรับผิดชอบในการแจ้งเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้รับทราบ และดำเนินการในการหลีกเลี่ยง หรือบรรเทาผลกระทบในทางลบที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับองค์กรดังกล่าวด้วย

การระบุผู้มีส่วนได้เสีย

ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ตามมาตรฐาน ISO 26000 จะหมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดจากการตัดสินใจหรือกิจกรรมขององค์กร ด้วยผลประโยชน์ดังกล่าว จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงลักษณะของผลกระทบที่มีต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จะสามารถช่วยองค์กรในการระบุถึงผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดได้

องค์กรอาจจะมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากที่มีความหลากหลาย และบางครั้งมีความต้องการที่ขัดแย้งกันด้วย ตัวอย่างเช่น ผลประโยชน์ของคนในชุมชนสามารถเป็นผลกระทบในทางบวกจากองค์กร เช่น เกิดการจ้างงาน รวมถึงผลกระทบในทางลบจากองค์กรเดียวกัน เช่น การปล่อยมลพิษออกสู่ชุมชน

ในขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียบางราย อาจจะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากสำหรับองค์กร เช่น สมาชิก พนักงานหรือเจ้าของขององค์กร ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อจุดประสงค์ และความสำเร็จขององค์กร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้จะเหมือนกันทั้งหมด

 ผู้มีส่วนได้เสียบางส่วน อาจจะมีการรวมกลุ่ม โดยมีจุดประสงค์ในการนำเสนอผลประโยชน์ของตนเองให้กับองค์กรได้รับทราบ แต่ก็ยังมีผู้มีส่วนได้เสียอีกมากที่ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม เพื่อแจ้งให้องค์กรได้รับทราบถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้อาจถูกมองข้ามหรือละเลยได้ เช่น กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ หรือคนในรุ่นถัดไป นอกจากนั้น กลุ่มที่ให้การสนับสนุนต่อประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรได้ ถ้าการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลกระทบที่สำคัญกับประเด็นเหล่านั้น

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จะเป็นการสานเสวนาที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะช่วยองค์กรในการกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เริ่มต้นโดยองค์กรเอง หรือเกิดขึ้นจากการตอบสนองขององค์กรจากการเริ่มต้นของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การประชุม การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชาพิจารณ์ การประชุมโต๊ะกลม คณะกรรมการที่ปรึกษา การให้ข้อมูลและคำปรึกษาอย่างเป็นระบบและเป็นประจำ การร่วมเจรจาต่อรอง และการแสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ควรจะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง

         การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จะช่วยให้ประโยชน์ในหลายประเด็นกับองค์กร เช่น

          การสร้างความเข้าใจให้กับองค์กร ถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร

          การหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ในการทำให้เกิดประโยชน์จากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร รวมถึงการเรียนรู้จากผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้น

          การสร้างให้เกิดการรับรู้ ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อความน่าเชื่อถือขององค์กร

          การทบทวนสมรรถนะเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง

          การแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และความคาดหวังของสังคม

          การเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมในภาพใหญ่

          การสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร

          การปฏิบัติตามข้อกฏหมาย

          การระบุถึงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย หรือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียด้วยกันเอง

          การได้รับประโยชน์จากมุมมองที่หลากหลาย

          ความโปร่งใสในการตัดสินใจ และกิจกรรมขององค์กร

          ความร่วมมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ในตอนต่อไป จะอธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญทั้ง 7 ประการ ของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการดำเนินการขององค์กรตามหัวข้อหลัก และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

 

 

aphondaworathan