CSR กับการพัฒนาองค์กร พัฒนาตนเองก่อนช่วยเหลือคนรอบข้าง
บทความCSR กับการพัฒนาองค์กร พัฒนาตนเองก่อนช่วยเหลือคนรอบข้าง
คงจะเป็นเรื่องที่สะดุดความคิดของผู้คนอยู่สักหน่อย หากองค์กรจะปฏิเสธกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีอยู่ในขณะนี้ เพราะเราทั้งหลายต่างเริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ยากที่เราจะดำรงคงอยู่ท่ามกลางสิ่งรอบ ๆ ตัวที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเรา
ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในเชิงของโครงสร้าง หรือการเติบโตในเชิงจิตวิญญาณ ทั้งปัจเจกบุคคลและองค์กร ล้วนต้องมีความสัมพันธ์กับสังคม ผู้คนรอบข้าง สิ่งต่าง ๆ รอบตัวทั้งนั้น เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจหรือการก้าวเดินไปของเราในระดับต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางการพัฒนาแบบลุยเดี่ยว โตคนเดียว เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ในระยะยาว ไม่ว่าตัวเราหรือองค์กรล้วนมีหน้าที่ต่อสิ่งรอบข้างด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อความยั่งยืนของเราเอง
กล่าวถึงการพัฒนาในปัจจุบัน ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน อันหมายถึงการเติบโตอย่างสมดุลทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นของเรา จะหลีกไม่พ้นวิธีการแก้ปัญหาแบบสร้างปัญหา
แนวความคิดการรับผิดชอบต่อสังคม บอกให้เรามองเหตุการณ์หรือ ปัญหาอย่างรอบด้านขึ้น แนวความคิดนี้ไม่ได้ปฏิเสธการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ เพราะองค์กรจะอยู่รอดได้ก็ด้วยปัจจัยทางการบริหาร ซึ่งประกอบไปด้วยเงินและทรัพยากรเป็นอันดับแรก แต่แนวความคิดนี้ขอให้เรา
เพิ่มการเฝ้าระวัง อย่าให้การปฏิบัติของเรานั้นมุ่งมองแต่ตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขทางการเงิน แล้วละเลยความจริงที่ว่าปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าภายในหรือภายนอกก็ล้วนต้องการความก้าวหน้า เติบโตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเช่นเดียวกัน
หลายองค์กรต้องการนำแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) มาประกอบในการดำเนินกิจการขององค์กร
จะด้วยความตระหนักถึงข้อเท็จจริงข้างต้น หรือด้วยความต้องการที่จะอยู่ในกระแสเหมือนคนอื่นก็ตาม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีองค์กรจำนวนไม่น้อย ที่เข้าใจแนวคิดนี้ในมุมมองแคบ ๆ ด้วยความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนว่า การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบทางสังคมนั้น เป็นการจัดสรรกำไรขององค์กรไปช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปลูกต้นไม้ การทาสีโรงเรียน การสร้างห้องสมุด และอีกหลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะการบริจาค
จริงอยู่การที่ทำสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเรียกว่าเป็นการทำกิจกรรม CSR แต่อยากให้องค์กรเข้าใจว่า CSR มีประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่านั้น CSR ไม่ได้เพียงแต่จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น แต่จุดมุ่งเน้นอันดับแรกคือ CSR สามารถทำให้องค์กรเองดีขึ้นด้วย
แนวความคิดและหลักปฏิบัติด้าน CSR ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้าง การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ถ้าเราจะมองย้อนกลับว่า ก่อนที่เราจะออกไปช่วยเหลือสังคมนั้น ทำไมเราไม่เป็น "คนดีของสังคม" เสียก่อน อาจจะพอทำให้เข้าใจประเด็นนี้ได้เร็วขึ้น การที่ทุกคนจะเริ่มต้นจากการเป็นคนดีที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ น่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความยั่งยืน
ก่อนที่เราจะไปแก้ไขประเด็นความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในสังคมกันต่อไป และด้วยเหตุที่ว่าหลายคนอาจมีความเคลือบแคลงสงสัยถึงการทำ CSR ของบางองค์กรว่ากำลังเป็นไปเพื่อลวงให้สังคมหันไปมองบทบาทอื่น แทนผลกระทบในทางลบที่องค์กรกำลังทำกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่หรือไม่
หรือบางทีองค์กรอาจไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น แต่ "ความดี" ที่องค์กรกำลังทำกลับไม่ได้แก้ไข "ข้อผิดพลาด" ที่องค์กรสร้างขึ้น เลยแม้แต่น้อย การเฝ้าระวังการกระทำที่เป็นปกติของเรา การแสดงความรับผิดชอบในการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเรา และการกระทำที่จะพัฒนาตัวเราจึงควรเป็นคำถามที่มาก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้เราตอบผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการได้ด้วยว่า องค์กรทำไมต้องทำ และจะได้อะไรจากการทำ CSR
จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริหารทั้งหลายมอง CSR ในมุมมองที่กว้างขึ้น มองในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาองค์กรก่อนที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือสังคม ถ้าเปรียบองค์กรเป็นบ้าน ก็ไม่ต่างอะไรจากการปรับปรุงบ้านของเราให้ดีเสียก่อน ทำให้คนในบ้านเรามีความสุขก่อน และเมื่อเรารู้สึก "เต็ม" จากภายในแล้ว ความเต็มจากภายในเองนั่นแหละที่จะผลักดันให้เราอยากออกไปช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ อย่าลืมว่าคนที่พร้อมและมีทัศนคติที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะทำให้ผลของการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยั่งยืน เราคงไม่อยากเป็นคนที่มือหนึ่งกำลังมอบดอกไม้ให้ความชื่นใจแก่คนทั่วไป
แต่อีกมือหนึ่งกลับถืออาวุธทำร้ายคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างเลือดเย็น
ที่มา : มรกต พรพิบูลย์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi)
วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4244 ประชาชาติธุรกิจ