http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

สหรัฐออกฉลากคาร์บอน

บทความ

สหรัฐออกฉลากคาร์บอน

สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดประมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา เรือนกระจก หรือ Green House Effect ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2549 หากประเทศที่ลงนาม เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 5.2% ในปี 2551-2555 จะมีค่าปรับถึงตันละ 2,000-5,000 บาท  แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

เหล่าประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่สามารถปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงได้เสนอมาตรการเพื่อป้องกันความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของตนเอง และเป็นที่มาของ Carbon Credit ซึ่งหมายถึง สิทธิในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แนวคิดหลักก็คือ หากประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้  ก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อลดได้จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตของตนเอง ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเช่น การปลูกป่าไม้ 2.5 ไร่ จะสามารถเก็บคาร์บอนเครดิตได้ 2 ตัน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน 1 หน่วยจะได้เครดิตประมาณ 0.6 กิโลกรัม ทำให้เกิดตลาดใหม่ที่เรียกว่า Emission Trading System หรือ ETS ซึ่งเป็นตลาดการซื้อขาย Carbon Credit แต่ในปัจจุบันนั้นข้อตกลงต่างๆเกี่ยวกับ Carbon Credit ยังไม่สามารถทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากนักเพราะราคาซื้อขาย Carbon Credit ยังไม่สูงพอที่จะดึงดูดหรือสร้างแรงจูงใจในการลดใช้พลังงานได้ สาเหตุเนื่องมาจาก สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ที่ปล่อยมลพิษเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโต เพราะเกรงว่าธุรกิจของตนจะต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันที่ปัจจุบันจะมีอยู่เพียงน้อยนิดแล้วก็ตาม แต่ในอนาคตอันใกล้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาคงจะใช้มาตรการดังกล่าวในการกีดกันทางการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการกีดกันดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศสหรัฐอมริกา เมื่อถึงตอนนั้นต้นทุนที่สหรัฐอเมริกาอาจจะยอมลงทุนและยอมรับการมีอยู่ของคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) เพราะฉะนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มในประเทศไทย ควรจะหันมาสนใจและเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ตั้งแต่วันนี้ เพราะอย่าลืมว่าหากสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะใช้มาตรการคาร์บอนเครดิตเมื่อไหร่ ก็หมายถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าวด้วยและอาจจะเข้มข้นกว่ามาตรการในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีอยู่ในปัจจุบัน

•Carbon Footprint

พิธีสารเกียวโตที่ประเทศสมาชิกวางเป้าหมายที่จะลดปริมาณการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลงให้ได้ร้อยละ 5.2 ภายในปี พ.ศ. 2555 (จากปริมาณที่ปล่อยในปีฐาน พ.ศ. 2533) ทำให้เกิดการค้าคาร์บอนเครดิตขึ้น ซึ่งประเทศ/บริษัทที่ไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย มีความจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่มีเครดิตเหลือ ผลของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเริ่มกลายเป็นธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และเชื่อว่าจะมีมูลค่ามหาศาลในระยะต่อไป โดยธุรกิจชนิดนี้จะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้หลายประเทศสนใจการสร้างความตระหนักต่อปัญหาการเกิดสภาวะโลกร้อนทั้งในหมู่ผู้ผลิตและผู้บริโภค จนมีหลายประเทศให้ความสนใจในการศึกษาคิดค้นฉลาก Carbon Footprint ขึ้น เพื่อบอกจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตต่อหนึ่งหน่วยสินค้า โดยวิธีการคิด Carbon Footprint จะเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบแล้วนำไปแปรรูปผลิต จนถึงการจัดจำหน่ายและย่อยสลาย ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงความใส่ใจของผู้ผลิตต่อปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังสามารถสร้างความตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตน้อยกว่าสินค้าชนิดเดียวกันแต่ต่างตราสินค้า ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการออกฉลากคาร์บอน จำนวน 3 ประเภท ดังนี้

1.ฉลาก Low-Carbon Seal ซึ่งเป็นฉลากคาร์บอนประเภทที่ไม่มีจำนวนการปล่อย carbon footprint ติด ดังนั้นผู้บริโภคจะไม่สามารถทราบได้ถึงจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในภาคการผลิตสินค้า

2.ฉลาก Carbon Score เป็นฉลากคาร์บอนประเภทที่มีจำนวน carbon footprint ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากภาคการผลิตสินค้าของระหว่างสินค้าแต่ละชนิดหรือชนิดเดียวกัน แต่ต่างตราสัญลักษณ์กันได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตปริมาณน้อยที่สุด

3.ฉลาก Carbon Rating ฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะมีลักษณะคล้ายกับ energy label ในสหภาพยุโรป โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่มโดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาว จาก 1 จนถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้จำนวนดาวมากหมายถึงสินค้าชนิดนั้นๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ในปริมาณมากกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง

ซึ่งในประเทศไทยมีการพัฒนาฉลากคาร์บอนโดยสำหรับประเทศไทยนั้น องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ประกาศโครงการฉลากคาร์บอน ในระยะแรกของโครงการมีแนวคิดการจัดระดับฉลากคาร์บอนออกเป็น 5 ระดับ โดยอาศัยวิธีการประเมินวัฏจักรของชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) และเปรียบเทียบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าฉลากคาร์บอนแต่ละระดับมีสีแตกต่างกัน พร้อมทั้งระบุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีจะได้ปรับเปลี่ยนฉลากคาร์บอนให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่ายมากขึ้น โดยมีการระบุรายละเอียดไปด้วย เช่น ประเภทของอุตสาหกรรม อักษรย่อชื่อบริษัทผู้ผลิต ประเภทของฉลากที่ได้รับ ปีค.ศ.ที่ได้รับการอนุมัติปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ สำหรับสินค้าที่จะได้รับการอนุมัติให้นำฉลากคาร์บอนไปติดแสดงที่ตัวสินค้าจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ ฉลากคาร์บอนที่ออกให้กับสินค้าแต่ละรายการนั้นจะมีอายุ 3 ปีต่อการออกฉลาก 1 ครั้ง ฉลากคาร์บอนนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ผลิตสินค้าของไทยต้องติดตามความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมีบทบาทสำคัญในการค้าโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแสดงข้อมูล Carbon Footprint โดยใช้ฉลากคาร์บอนจะเป็นไปสู่การเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์จากประเทศคู่แข่งและนำไปสู่การกีดกันทางการค้าในที่สุด

ที่มา: http://www.thaitextile.org/eu_z/article.php?id=88

 

 

 

aphondaworathan