แบรนด์ทำกรรมแต่ง
บทความแบรนด์ทำกรรมแต่ง
วันนี้เรารู้แล้วว่าซูเปอร์ฮีโร่มีอยู่แต่ในหนังภารกิจดูแลโลกจึงไม่ได้ถูกฝากไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเหมือนก่อนยุคนี้เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลดาวเคราะห์สีฟ้าใบนี้ เพราะเรารู้แล้วว่าถ้าโลกอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ นั่นหมายถึงธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ด้วย
ภาคธุรกิจซึ่งมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายโลกจึงขยับเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโลกมากขึ้นพร้อมกับเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีคิดแบบที่ใช้ทำธุรกิจทำให้เกิดสีสันใหม่ๆ ในการพิทักษ์รักษาโลกดูเหมือนหลายวิธีก็มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่าวิธีการที่รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนกำลังทำอยู่ด้วยซ้ำ
องค์กรธุรกิจทราบดีว่าถ้าโลกมีปัญหา คนคงไม่มีปัญญาซื้อสินค้าและบริการของพวกเขาและมั่นใจว่าถ้าองค์กรของพวกเขาทำดีย่อมมีคนรักใคร่จนส่งผลให้ยอดขายพุ่งพรวดบริษัทต่างๆ จึงพากันเจียดงบมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างที่เรียกกันว่า CSR (Corporate Social Responsibility)
หัวใจที่แท้จริงของ CSR คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในผลกระทบที่เราสร้างขึ้นเช่นในการผลิตของเราส่งผลเสียอะไรบ้างต่อ คนงาน คนในชุมชน ธรรมชาติ หรือโลกใบนี้ก็แก้ไขตรงนั้นก่อน ถึงจะเรียกว่าเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ
ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ปลูกป่า มอบทุนการศึกษา แจกผ้าห่มแต่โรงงานของตัวเองก็ยังพ่นพิษใส่โลกในปริมาณเท่าเดิม
อย่างที่พุทธศาสนาสอนไว้ว่า เราต้องทำทั้งความดี และละเว้นความชั่ว
สิ่งที่องค์กรต่างๆ ในเมืองไทยเรียกว่า CSR เกือบทั้งหมดไม่ใช่ CSRมันเป็นแค่กิจกรรม PR หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้นเองจึงไม่แปลกที่หลายบริษัทใช้งบในการซื้อสื่อโฆษณาว่าฉันไปปลูกป่ามาแล้วนะมากกว่างบที่ใช้ปลูกป่าเสียอีก
ไม่กี่วันก่อนผมได้ยินข่าวว่า บริษัทหนึ่งพาผู้บริหารและลูกค้าไปปลูกป่าตามนโยบาย CSRแต่เนื่องด้วยพื้นที่ปลูกป่าในเมืองไทยมีไม่มากแปลงที่เลือกไว้ก็ดันมีคนมาปลูกตัดหน้าไปเมื่อสัปดาห์ก่อนพอมาถึงเลยไม่ได้ปลูกในแปลงใกล้ๆ เหมือนที่คิดไว้ ต้องบุกฝ่าผ่าดงเข้าไปปลูกด้านในทีมงานเห็นว่าคงไม่สะดวกกับผู้บริหารซึ่งตั้งใจมาปลูกพอเป็นพิธีแล้วกางป้ายถ่ายรูปเลยจัดแจงถอนต้นกล้าที่กลุ่มก่อนหน้ามาปลูกไว้ทิ้ง แล้วเอากล้าของพวกเขามาปลูกใหม่ผู้บริหารจะได้ไม่ลำบาก
บ้านเมืองเราทำกันแบบนี้ แล้วก็แปะป้ายว่านี่คือ CSRบริษัทไหนอยากโกหกก็ปล่อยเขาไป ผู้บริโภคอย่างเราอย่าไปเชื่อก็พอได้ยินได้ฟังเรื่องแบบนี้ หลายคนคงนึกก่นด่าระบบทุนนิยมแต่อย่าเพิ่งเหนื่อยหน่ายกับระบบนี้เพราะถ้าเราใช้มันอย่างถูกวิธี มันก็มีประโยชน์ตอนนี้แบรนด์คือหัวใจของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อเราทุกคน
แค่เอาแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุด 100 แบรนด์ของโลกมารวมกันก็มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่า GDP ของหลายประเทศเมื่อมันมีอิทธิพลต่อคนมากมายมหาศาลทั้งในแง่บวกและลบผู้บริหารแบรนด์ทั้งหลายก็ควรคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่คิดแต่จะหากำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น
Craig Davis ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณามา 22 ปี คลุกคลีอยู่กับเจ้าของแบรนด์และผู้บริโภคงานของเขาคือ ทำให้ผู้บริโภคเลือกแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ให้ได้เขามีความเห็นว่าผู้บริโภคตัวเล็กๆ สามารถเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานของแบรนด์ใหญ่ๆ ด้วยวิธีง่ายๆแค่เลือกซื้อหรือไม่ซื้อการตัดสินใจของเราจะส่งผลต่อบริษัทนั้นๆ ต่อผู้ถือหุ้น และต่อโลกในที่สุด
เรารู้ว่าระบบทุนนิยมมีพลัง มีอิทธิพลต่อชีวิตเราแต่เราอาจลืมไปว่า ตัวละครที่มีอิทธิพลต่อระบบทุนนิยมที่สุดก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่แหละถ้าเราไม่ซื้อ เขาก็อยู่ไม่ได้ดังนั้นเราจึงสามารถแก้ปัญหาที่บริษัทน้อยใหญ่ทำร้ายโลกใบนี้ได้ด้วยการเลือกให้ถูกต้องว่าจะซื้อหรือไม่ซื้ออะไรและเหมือนว่าทุกคนก็อยากจะตัดสินใจถูกกันทั้งนั้น
Craig Davis พบว่าสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้เลือกในทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ขาดข้อมูลเขาจึงทำเว็บไซต์ที่ชื่อว่า BrandKarma ขึ้นมา ในรูปแบบของ Social Mediaให้ทุกคนช่วยกันให้ข้อมูลด้านต่างๆ ของแบรนด์ เพื่อสังคมจะได้ตัดสินใจเลือกซื้อแบรนด์ที่ถูกต้องนอกจากจะหยิบเรื่องแบรนด์มาใช้แล้ว Chief Creative Officer แห่ง Publicis ออสเตรเลีย คนนี้ยังหยิบเรื่องกฎแห่งกรรมมาใช้ด้วย
เขามองกรรมว่าเป็นการกระทำของเราที่จะส่งผลต่อเราในภาคหน้าทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ช้าก็เร็วเราต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นไม่ใช่แค่คน แบรนด์ก็เช่นเดียวกันในเว็บไซต์แห่งนี้มีแบรนด์ระดับท็อปของโลกอยู่ 37 หมวด จำนวนกว่า 100 แบรนด์
ผู้ที่จะเข้าไปแสดงความเห็นได้ ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนเช่นเดียวกับ facebook หรือ twitterเว็บนี้เลือกบอกเล่ากรรมของแต่ละแบรนด์ผ่านแผนภูมิรูปดอกไม้ 5 กลีบแต่ละกลีบแทนประเด็นของผู้เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในด้านต่างๆได้แก่ ผู้บริโภค ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ผู้ลงทุน และโลกเวลาที่เราจะแสดงความเห็นก็ว่ากันตามประเด็นเหล่านี้ขนาดของกลีบที่ใหญ่หมายถึง มีคนแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นนี้เยอะส่วนสีแสดงถึงระดับของกรรมดีถ้าเป็นสีเขียวแปลว่าทำได้ดี แต่ถ้าเป็นสีแดงแปลว่าทำได้แย่มากเมื่อเราล็อกอินเข้ามาแล้ว เราก็เลือกแบรนด์ที่เราสนใจแล้วให้คะแนนในด้านต่างๆ ที่เรามีข้อมูล พิมพ์แสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ ได้จะแทรกไฟล์ภาพหรือวิดีโอประกอบก็ได้เข้าไปตรวจสอบความเห็นของคนอื่นก็ได้รวมถึงสามารถกด เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย กับความเห็นคนอื่นได้จะพิมพ์คอมเมนต์อธิบายเหตุผลก็ทำได้ จะสั่งให้เปรียบเทียบระหว่างแบรนด์ก็ทำได้หรือจะให้จัดอันดับในแต่ละหมวดก็ง่ายมาก
ด้วยความที่เว็บนี้วางตัวเองไว้ว่าเป็น Social Media แต่ละคนก็เลยมีเพจของตัวเองมีประวัติ มีสถิติว่าเราเข้าไปแสดงความคิดเห็นกับแบรนด์ไหนยังไง ชอบไม่ชอบแบรนด์ไหนนั่นเลยทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนใหม่ที่สนใจคล้ายๆ กันได้แบบเดียวกับ Social Media อื่นๆ
อย่าเพิ่งคิดว่าเว็บไซต์แห่งนี้ทำขึ้นมาเพื่อด่าแบรนด์ต่างๆ อย่างเดียวเขาตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นดังนั้นทุกแบรนด์จึงมีกรุ๊ปของตัวเอง ทั้งคนที่ชอบ และคนที่ไม่ชอบชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหนก็แสดงความเห็นกันไป
เหตุผลหนึ่งที่เว็บไซต์นี้วางตัวไว้เป็น Social Media ก็คือเพื่อให้คนเข้ามาช่วยกันแสดงความเห็น เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะฉลาดไปกว่าพวกเราทุกคนรวมกันแต่ท้ายที่สุด ถึงเราจะเห็นดอกไม้ของแบรนด์มีรูปทรงสีสันเป็นอย่างไร ก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อไม่ว่าจะมีคนชมหรือด่า เราก็ควรเข้าไปอ่านว่า เรื่องราวมันเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือไหมแล้วค่อยตัดสินใจ
แบรนด์ไหนทำอะไรไม่ดีไว้ก็เตรียมตัวโดนกรรมสนองยิ่งอยู่บนเว็บไซต์แบบนี้ยิ่งเร็วเป็นกรรมติดจรวด
BrandKarma คงไม่ได้ตั้งใจจะทำขึ้นมาเพื่อด่าว่าแบรนด์ไหนเลวเว็บแห่งนี้คงแค่อยากแนะนำผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ให้ทราบว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันถูกหรือผิดเพราะหลายแบรนด์ทำเรื่องแย่ๆ โดยที่ไม่รู้ตัว แบบนี้ก็ต้องแนะนำกันและหลายแบรนด์ก็ทำเรื่องแย่ๆ ทั้งๆ ที่รู้ แต่คิดว่าผู้บริโภคคงไม่รู้แบบนี้ก็คงต้องตักเตือนกัน อย่างเช่น CSR ปลอมๆ ในเมืองไทย
ที่มา:http://www.lonelytrees.net/?p=2278