http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

จะได้เสียกับใครดี...โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

บทความ

จะได้เสียกับใครดี...โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

องค์กรควรต้องทราบว่า ใครคือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้เสียกับกิจการ จำต้องระแวดระวังมิให้มีผลกระทบเชิงลบ

เรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการวางกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องหนึ่งได้แก่ การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) ด้วยสาเหตุที่องค์กรควรต้องทราบว่า ใครคือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้เสียกับกิจการ จำต้องระแวดระวังมิให้มีผลกระทบเชิงลบที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน จากนั้นจึงจะทราบว่า อะไรที่องค์กรต้องดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น

การระบุผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Identification) อาจใช้เกณฑ์ความเกี่ยวข้องกับองค์กรในการพิจารณา ซึ่งสามารถจำแนกผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก (Primary Stakeholders) คือ กลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับธุรกิจโดยตรง เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางตรงจากการประกอบธุรกิจ เช่น ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ (Suppliers) พนักงานและครอบครัวของพนักงาน ผู้ถือหุ้น นักลงทุน เจ้าหนี้ ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ

ผู้มีส่วนได้เสียรอง (Secondary Stakeholders) คือกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยอ้อม เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางอ้อมจากการประกอบธุรกิจ เช่น รัฐบาล หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ สมาคมการค้า กลุ่มวิชาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าหรือพนักงานของธุรกิจในอนาคต (Prospects) ประชาชนทั่วไป ชุมชนนอกถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ

องค์กรธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรม CSR ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ขนาดของกิจการ และความพร้อมขององค์กร สำหรับธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจต้องให้ความสำคัญกับชุมชนหรือระบบนิเวศที่อยู่รายรอบโรงงานเป็นพิเศษ สำหรับกิจการขนาดเล็กที่ต้องอาศัยพนักงานเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จ อาจต้องสร้างกิจกรรม CSR เพื่อครอบครัวของพนักงานเป็นสำคัญ

สำหรับองค์กรที่ฝากความสำเร็จไว้กับสายอุปทาน (Supply Chain) ที่ผู้ส่งมอบ หรือที่หน่วยกระจายสินค้า อาจต้องคำนึงถึงกิจกรรม CSR กับคู่ค้าเป็นอันดับต้นๆ

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศในสังกัดกลุ่มธนาคารโลก (International Finance Corporation, 2007) ได้กล่าวถึง หลักเกณฑ์ที่ใช้ระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียสำหรับการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรไว้เป็น 2 แนวทางด้วยกัน คือ กลุ่มที่ได้รับผล หรือถูกรบกวนจากการดำเนินงานขององค์กร (Affected Parties) และ กลุ่มที่เสียงดังหรือมีความสนใจต่อการดำเนินงานขององค์กร (Interest Parties) แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรก็ตาม พร้อมกับแนะนำต่อด้วยว่า ให้หลีกเลี่ยงการข้องแวะกับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการหยิบยกประเด็นที่ดำเนินการไปถกเถียงในเวทีสาธารณะ อาทิ สื่อ หรือกระบวนการทางการเมือง

อย่างไรก็ดี พึงสังวรณ์ว่าการระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในลักษณะข้างต้น มุ่งที่จะรักษาคุณค่าขององค์กร (Corporate Value) เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีเสียงค่อย หรือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือกลุ่มคนชั้นฐานล่างสุด (Bottom of Pyramid) ซึ่งสมควรได้รับความช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ อาจไม่ปรากฏอยู่ในการจัดทำแผนที่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Mapping) สำหรับกิจกรรม CSR

องค์กรธุรกิจที่ประกอบการในไทย และในประเทศกำลังพัฒนา จึงควรคำนึงถึง ไม่เฉพาะผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ให้ความสนใจในการดำเนินงานขององค์กรเท่านั้น แต่ให้รวมถึงผู้ที่ยังมีความขาดแคลนและคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองจากองค์กร (Deficient Parties) ด้วยการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน

 

 ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/pipat/20110728/402168/จะได้เสียกับใครดี.html

 

 

aphondaworathan