กลยุทธ์นัดเดียวได้นกสองตัว โดยดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความกลยุทธ์นัดเดียวได้นกสองตัว โดยดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
กลยุทธ์ (Strategy) มีความสำคัญในระดับที่สามารถกำหนดความสำเร็จของธุรกิจที่ดำเนินอยู่ กลยุทธ์ที่ดีจะต้องสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดและสร้างให้เกิดคุณค่าในระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ มิใช่เพียงสนับสนุนให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ในแต่ละวัน
การผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ไว้ในกลยุทธ์องค์กร จะทำให้องค์กรเห็นภาพรวม (Holistic View) และแนวการดำเนินงานทั้งทางธุรกิจและทางสังคม ตลอดจนจุดเน้นขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ
การที่องค์กรมีการจัดทำแผนที่กลยุทธ์ จะช่วยให้สามารถตรวจสอบความสมบูรณ์และความสัมพันธ์ของกลยุทธ์ในเชิงเหตุและผลระหว่างมุมมองต่างๆ โดยแผนที่กลยุทธ์องค์กรที่ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งทางธุรกิจและทางสังคม ควรตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า
กลยุทธ์จะต้องส่งมอบคุณค่าที่ไม่จำกัดเฉพาะแต่เพียงผู้ถือหุ้น (Shareholders) แต่ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (Stakeholders) การที่กลยุทธ์ขององค์กรถูกออกแบบเพื่อตอบสนองคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียงลำพัง อาจไม่เพียงพอต่อการทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ ฉะนั้นการวางน้ำหนักกลยุทธ์ขององค์กรจึงต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ด้านการเงินและวัตถุประสงค์นอกเหนือด้านการเงิน อาทิ การเพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือการลดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร
กลยุทธ์จะต้องขยายการรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (Customer Value Proposition) ไปสู่สิ่งที่สังคมต้องการ (Social Value Proposition) เนื่องจากคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากด้านราคา คุณภาพ หาง่าย เหมาะเจาะ ถูกใจ บริการดี เป็นที่แพร่หลาย และน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย ความลับและความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมส่วนรวมคาดหวังด้วย การวางกลยุทธ์ขององค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่สังคมหรือผู้บริโภคโดยรวมต้องการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายต้องการ
กลยุทธ์จะต้องสร้างให้เกิดคุณค่าด้วยกระบวนการภายในองค์กร (Internal Processes) และกระบวนการภายนอกองค์กร (External Processes) องค์กรควรมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าด้วยการบริหารการดำเนินงานการผลิตและส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การคิดค้นนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ และสัมพันธภาพ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความคาดหวังทางสังคม รวมทั้งการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนการริเริ่มดำเนินกิจกรรม CSR ร่วมกับองค์กรของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการสื่อสารสู่ภายนอก
กลยุทธ์จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้และนำไปสู่การเจริญเติบโต (Learning and Growth) ควบคู่กับการสร้างเสริมศีลธรรมและนำไปสู่ความยั่งยืน (Morality and Sustainability) กิจการจะต้องสร้างสมทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่ “เก่ง” และเป็นองค์กรที่ “ดี” ซึ่งประกอบด้วยทุนหลัก 6 ประเภท ได้แก่ มนุษย์ สารสนเทศ องค์กร คุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนเหล่านี้ไม่อาจที่จะแยกวัดมูลค่าหรือประเมินคุณค่าได้โดยอิสระต่อกัน
การคำนึงถึงหลักการทั้ง 4 ข้อข้างต้น ในการจัดทำแผนที่กลยุทธ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการดำเนินงานที่มีสาเหตุจากการละเลยปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลระหว่างกัน อาทิ การมองข้ามการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่พนักงาน การขาดกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ การริเริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกที่ไม่สัมพันธ์กับคุณค่าที่สังคมต้องการ..
ที่มา: http://pipatory.blogspot.com/