CSR สไตล์ไทย ใช่แค่พิธีกรรม !! โดย อนันตชัย ยูรประถม มูลนิธิกองทุนการศึกษา เพื่อการพัฒนา (EDF)
บทความCSR สไตล์ไทย ใช่แค่พิธีกรรม !! โดย อนันตชัย ยูรประถม มูลนิธิกองทุนการศึกษา เพื่อการพัฒนา (EDF)
คอลัมน์ csr knowledge
ช่วงนี้ผมมีความจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวลงแบบฟอร์มเอกสารนานาชนิดบ่อยเป็นพิเศษ ช่องอื่นๆ ก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งมาถึงช่อง "ศาสนา" แม้จะเคยกรอกข้อมูลมานับไม่ถ้วน ตั้งแต่เล็กจนโต คำตอบของครั้งนี้ก็คงไม่น่าแตกต่างกว่าครั้งอื่นๆ ก็คือ "พุทธ" แต่ที่แตกต่างก็คือ ผมหวนนึก ไปถึงคำพูดของผู้หลักผู้ใหญ่ท่านว่า " เราเป็นพุทธตามคำตอบที่เรากรอกในแบบสอบถามเท่านั้น หรือว่าเราเป็นพุทธที่กาย วาจา ใจ" เช่นเดียวกับที่เราตั้งคำถามกับ CSR
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปนั่งสนทนาเรื่อง CSR กับท่านอาจารย์ธัญ มณัสธนัญญ์ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ ท่านกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านนี้อยู่พอดี ในหลายๆ หัวข้อที่เราคุยกัน ท่านตั้งข้อสังเกตกับผมว่า นักวิชาการที่สนใจด้าน CSR ส่วนใหญ่เท่าที่ได้พบมาจะเป็นคนพุทธที่ฝักใฝ่ในเรื่องของธรรมะและการปฏิบัติธรรม รวมทั้งตัวท่านเองด้วย ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า
แม้กระแสของ CSR ในบ้านเราจะรับหลักใหญ่ใจความมาจากต่างประเทศ แต่รู้สึกได้ถึงลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และ
สิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวส่งผลและสร้างรูปแบบ CSR แบบไทยๆ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นภายใน เรื่องของความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามในบ้านเราที่ว่า อันไหนเป็น CSR แท้ หรือ CSR เทียม
มันเหมือนกับที่เราพูดถึงเรื่องของ "พิธีกรรม" กับ "จิต" ในศาสนาพุทธของเราหรือไม่ ที่เราให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่ากัน และคิดว่านั่นคือ พุทธแท้กับพุทธเทียม ระหว่างพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การทำบุญ สวดมนต์ เข้าวัด
ฟังพระเทศน์ หรือการให้ทาน การทำบุญ การแต่งงาน จนกระทั่งงานศพ กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ การถือศีล ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติทางจิตเป็นหลัก โดยไม่สนใจในเรื่องของพิธีกรรม เช่นเดียวกับ CSR ที่เราอาจจะเปรียบเทียบว่า กิจกรรม (initiatives) ก็คือ "พิธีกรรม" ในรูปแบบต่างๆ ส่วนที่ให้ความสำคัญกับความจริงใจก็คือ กลุ่มที่เน้นการปฏิบัติทางจิต
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าคงต้องผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน (แม้ว่าจะให้น้ำหนักในเรื่องของจิตเป็นสำคัญ) เพราะการที่เราเริ่มต้นด้วยสิ่งที่จับต้องได้ มันอาจจะง่ายกว่า เหมือนตอนเด็กๆ ที่ติดตามคุณตา คุณยาย ไปทำบุญ ฟังเทศน์ที่วัดตามธรรมเนียม
แต่สิ่งที่ทำเป็นประจำก็เริ่มน้อมนำให้เราไปสู่ความศรัทธา และเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันใดก็ฉันนั้น การทำ CSR แม้ว่าจะเริ่มปฏิบัติจากการทำตามๆ กันไปตามธรรมเนียม แล้วเราค่อยๆ ศึกษา ทำความเข้าใจ หาแนวทางที่ดีที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ เชื่อว่าในไม่ช้าเราก็ต้องบรรลุไปถึงจุดหมายที่มันควรจะเป็น
ด้วยความคิดอันนี้เป็นเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้ผมเห็นว่า Philip Kotler เป็นมัคนายกคนสำคัญของ CSR ไม่ใช่ว่าท่านอื่นๆ จะไม่สำคัญ แต่ Kotler รวบรวมและจำแนกพิธีกรรม แนวทางปฏิบัติของ CSR ให้เราเห็นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเริ่มต้นที่ว่าเราควรจะปฏิบัติตัวแบบไหน หลังที่ได้เริ่มปฏิบัติแล้วเราก็ค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้มันเข้าไปอยู่ในเนื้อแท้ของตัวเอง ไม่ช้าไม่นานเราก็จะเป็นองค์กรที่เพียบพร้อมไปทั้งความงดงามทั้งภายนอกและภายในในเรื่อง CSR
ดังนั้นผมจึงอยากให้เกิดการผสมผสาน ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติและการฝึกจิตไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้เห็นถึงแก่นของ CSR จากการปฏิบัติอันนั้นด้วย เพราะถ้าเราเกิดหลงทางหรือมีโมหะเกิดขึ้น ในไม่ช้าเราอาจจะได้เจอ CSR ประเภททรงเจ้า เข้าผี หรือทำ CSR เอาหน้า ภาวนากันตาย เกิดขึ้นเป็นทิวแถวในบ้านเรา...ไม่เชื่อ...แต่อย่าลบหลู่
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ