http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

มารู้จัก ?ฉลากคาร์บอน? กันเถอะค่ะ โดยสวีณา เกตุสุวรรณ

บทความ

มารู้จัก ฉลากคาร์บอนกันเถอะค่ะ โดยสวีณา เกตุสุวรรณ

 ฉลากเขียวก็มีให้เห็นกันเยอะแล้ว เรามาทำความรู้จักกับฉลากตัวใหม่ชื่อว่า ฉลากคาร์บอนกันเถอะค่ะ ฉลากคาร์บอนนี้ได้รับการผลักดันจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้เครือข่ายพันธมิตรจากภาคธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่มีคาร์บอนต่ำ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยและติดฉลากคาร์บอนเพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยตัวฉลากจะบอกผู้บริโภคถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต เพื่อให้เกิดการเลือกใช้ ทำให้สินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมล้มตายไปเอง

 เหตุผลหลักในการทำฉลากคาร์บอนคือ การเกิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก ที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ปิโตรเลียม การเกษตร การดำรงชีวิตประจำวัน ฯลฯ ต่างปลดปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้สมดุลของชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป และเกิดเป็นภาวะโลกร้อน หนทางการลดการเกิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ต้องช่วยกันลงมือทำ โดยข้อมูลเบื้องต้นคนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประมาณ 4.8 ตัน/ปี

 โดยการดำเนินงานหลักเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ในการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ที่อนาคตจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนไทย ให้หันมาใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยนั่นเอง

 ทั้งนี้ ฉลากคาร์บอนจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า ในขั้นตอนการผลิตสินค้านั้นๆ ผู้ประกอบการได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นปริมาณเท่าใด หลังจากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแล้ว โดยขณะนี้ทาง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้กำหนดฉลากคาร์บอนซ่งมีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอนแบ่งเป็น 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่หมายเลขที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุด คือ เบอร์ 1 (สีแดง) เบอร์ 2 (สีส้ม) เบอร์ 3 (สีเหลือง) เบอร์ 4 (สีน้ำเงิน) และเบอร์ 5 (สีเขียว) พร้อมระบุตัวเลขแสดงสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการประเมินวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment, LCA) ผลการประเมินจะถูกเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) เช่นฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ลดปล่อยก๊าซฯได้ 20% ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 มีพื้นสีเขียว เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ 50% หรือสินค้านี้อยู่ในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยที่สุดและมีความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

ฉลากคาร์บอนจะไม่เหมือนฉลากเขียว เพราะฉลากเขียวจะครอบคลุมทุกมิติของสินค้า ทั้งด้านวัตถุดิบ และมลพิษที่เกิดขึ้น แต่ฉลากคาร์บอนจะดูเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเท่านั้น โดยเราจะแยกเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยเฉพาะ

 
ข้อดีของการมีฉลากคาร์บอน

ผู้บริโภคได้อะไร

-ทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ ปรับปรุงกระบวนการผลิตและพลังงานที่ใช้ เพื่อผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย

-มีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ผู้ผลิตได้อะไร

-ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเกิดของเสีย

-แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท

 การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน

ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างปีฐาน (พ.ศ. 2548) และปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)

ร้อยละที่ลดลงของก๊าซเรือนกระจกจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการออกฉลากโดยเปรียบเทียบกับข้อกำหนดกลางที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกำหนด เพื่อทำการแบ่งระดับของฉลากต่อไป

ค่าดำเนินการในการออกฉลาก 100,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์

ฉลากมีอายุ 3 ปี

ที่มา: http://www.npc-se.co.th/npc_date/npc_previews.asp?id_head=3&id_sub=28&id=119

สวีณา เกตุสุวรรณ

ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้แอนด์เอนไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด

Saveena.k@pttchem.com

 

 

aphondaworathan