http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ความแตกต่างของการให้ ที่ "ไมโครซอฟท์"

บทความ

ความแตกต่างของการให้ ที่ "ไมโครซอฟท์"

คงไม่ต้องกล่าวอ้างถึงชื่อชั้นของ "บิลล์ เกตส์" ผู้ก่อตั้ง ไมโครซอฟท์ ที่สร้างคลื่นความเปลี่ยนแปลงให้กับอภิมหาเศรษฐีทั่วโลก ให้ต้องหันมามองตัวเอง เมื่อเขาปลดระวางตัวเองจากบัลลังก์ไมโครซอฟท์ และไปนั่งบริหารมูลนิธิ บิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ ที่เขาและภรรยาก่อตั้งขึ้นในการสนับสนุนเรื่องการศึกษาและสุขภาพอย่างเต็มตัว

"เคยตั้งคำถามกับบิลล์ ว่าเขากลัวมั้ย" ปฐมา จันทรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟัง เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสคุยกับ บิลล์ เกตส์ ถึงเรื่องนี้

เธอบอกว่า เมื่อถูกตั้งคำถามนี้ บิลล์ตอบว่า "การทำธุรกิจกับมูลนิธิมีเรื่องที่คล้ายกันอยู่ 3 อย่าง"

อย่างแรก เขาบอกว่าทั้งการทำธุรกิจและมูลนิธิ เหมือนกันคือการทำในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลก การทำมูลนิธิก็คล้ายกับตอนที่เขาตั้งไมโครซอฟท์เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงและอยากเห็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตั้งอยู่บนโต๊ะของทุกบ้าน ซึ่งในวันนั้นใครต่อใครก็มองเป็นเรื่องตลก ดังนั้น ถ้าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเชื่อและเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงนั้นจากตัวเอง

อย่างที่ 2 ต้องทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ แม้ธุรกิจในอุตสาหกรรมจะขยายธุรกิจไปสู่เรื่องอื่น แต่สำหรับไมโครซอฟท์ ยังคงมุ่งเน้นอยู่แค่ที่การผลิตซอฟต์แวร์เท่านั้น เป็นเพราะความเชื่อของบิลล์ ที่ว่า เราต้องทำในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ ในการสร้างซอฟต์แวร์ที่ทำงานได้บนฮาร์ดแวร์ทุกชนิด และทำให้คู่ค้าสามารถอยู่รอดได้

การทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ยังต่อยอดไปสู่การสร้างเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการผลิตซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี เข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน อาทิ การใช้ซอฟต์แวร์เข้าไปดูแลสุขภาพ การคิดค้นซอฟต์แวร์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา รวมไปถึงการนำซอฟต์แวร์ไปให้บริการกับชุมชนเช่น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เป็นต้น

ในแนวคิดของ "บิลล์ เกตส์" ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของวิธีคิดในการทำธุรกิจของไมโครซอฟท์ เชื่อว่า ความรับผิดชอบของบริษัทคือการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

"บิลล์บอกว่า ถ้าทำ CSR ไม่ใช่สิ่งที่เราทำแล้วเอาออกมา PR แต่เป็นการประยุกต์ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกวันในการดำเนินธุรกิจ"และอย่างสุดท้าย มองไปที่ความยั่งยืน

ปฐมาบอกว่า "การให้ก็เหมือนเวลาทำธุรกิจไม่ใช่ผลิตขายออกไปแล้วจบแต่ต้องมีความรับผิดชอบใน ทุกกระบวนการ เช่นเดียวกับการให้ที่ยั่งยืนที่ เมลินดา เกตต์ บอกว่า การให้ที่ยั่งยืน แค่สอนเขาตกปลายังไม่พอ แต่เราต้องสอนให้เขาเอาปลาที่หาได้ มาทำอาหารอย่างไร หรือรู้ว่าเพาะพันธุ์ปลาอย่างไร เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในระยะยาวด้วย"

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

aphondaworathan