จิตที่เป็น CSR
บทความจิตที่เป็น CSR
บทความโดย: อาจารย์บุริม โอทกานนท์
ตอนนี้แนวคิดเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) นั้นเริ่มได้รับการพูดถึงกันมากในแวดวงการตลาดและการศึกษา ไม่ว่าจะบทความ การทำประชาสัมพันธ์บริษัท เวทีนักคิด เวทีนักเขียน ล้วนแล้วแต่หยิบยกเอาประเด็นเรื่องนี้มาพูดกัน
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือ CSR ไม่ได้เป็นของใหม่ที่เริ่มตั้งไข่และคลอดออกมาในตอนนี้ แต่อันที่จริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นมีมานานแล้ว องค์คุณโนปการที่ได้เริ่มต้นในเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู้หัวของเรา เช่นการปลูกหญ้าแฝก การใช้ผักตบชวาในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และยังมีอีกหลายองค์กรที่ได้ประพฤติปฏิบัติกันมานาน เช่น CSR ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าของบริษัทป.ต.ท. สินค้าไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ห้า เบนซินแกสโซฮอลล์ ฯลฯ
ประเด็นคงไม่ใช่ว่าจะทำกันรูปแบบไหนและจะเริ่มโครงการกันเมื่อไร แต่ประเด็นคำถามในตอนนี้น่าจะเป็นว่า จะส่งเสริมให้คนของเรา พนักงานของเรา แสดงความกล้าที่จะลงมือทำตามจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างไรต่างหาก ทำอย่างไรจะให้พวกเขามองเห็นจุดหมายเดียวกันกับที่องค์กรหรือบริษัทตั้งเป้าเอาไว้เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกนี้มีสุขภาพดีขึ้น และใหญ่กว่านั้นคือกลายเป็นวาระแห่งจิตใจของคนไทยทุกคน ผมคงไม่พูดว่าอยากให้เป็นแค่วาระแห่งชาติ เพราะหลายครั้งที่คำพูดที่สวยหรู ไม่ได้เกิดผลอะไร เนื่องจากสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่อยู่ที่บริษัทอยากทำ CSR หรือไม่ แต่เป็นคนของเราเห็นคุณค่าในการทำ CSR ให้กับบ้านที่เขาอยู่ ประเทศที่เขาเกิด หรือ โลกที่เขาอาศัยหรือไม่อย่างไรต่างหาก
มองง่ายๆ วันนี้คนเดินถนนกี่คนที่เห็นขวดแก้วที่แตกกลิ้งอยู่บนทางเท้า เขามองแล้วหยิบขึ้นเก็บขวดแก้วที่แตก มีปลายคมเหล่านั้นขึ้นมาแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพราะคิดว่าเดี๋ยวจะมีคนเดินมาเหยียบทำให้ได้รับบาดเจ็บ จะมีคนซักกี่คนที่เห็นคนที่ไม่รู้จักทำของตกและช่วยเขาหยิบเก็บเพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งนี้คือภาพง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าด้านจิตสำนึกในการช่วยเหลือกันที่อยู่ในใจของคนเรา
ในความคิดของผมคนที่อยู่ในมุมมืดของสังคมไม่ใช่คนที่อยู่ในมุมมืดทางกายภาพ คืออยู่ในสถานที่เปียกแฉะและแทบจะไม่มีแสงสว่าง แต่คนที่อยู่ในมุมมืดคือคนที่ใช้จิตสำนึกในด้านมืดของใจเป็นที่สิงสถิตต่างหาก
ข้อสำคัญพวกเขาอยู่ตัวคนเดียวในมุมมืดที่ไม่ยอมเปิดเผยนั้น คนเหล่านี้เป็นคนที่กล้ว กลัวว่าเมื่อพวกเขาออกไปจากมุมมืด เขาจะพบกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปไม่สุขสบายเหมือนอยู่ในมุมมืดที่เคยอยู่ กลัวแม้การทำอะไรใหม่ๆ ที่ต้องพบปะผู้คนที่ไม่รู้จัก กล้วแม้กระทั่งสิ่งที่ต้องทำนั้นทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่พวกเขาลืมคิดไปว่า การที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้ในท้ายที่สุดก็จะทำให้เขาอยู่ไม่ได้แม้ในมุมมืด
จิตสำนึกนั้นไม่เหมือนการลงต้นกล้า รดน้ำพรวนดิน แล้วจะงอกขึ้นมาได้เสมอไป แต่จิตสำนึกกนั้นเกิดจากการมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในตัวตนเรา อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้นก็ได้ ดอกไม้ของจิตสำนึกนั้นอยู่เหนือกาลเวลา ไม่เคยมีคำว่าสาย ไม่มีคำว่าเหี่ยวมีแต่คำว่า “บาน” กับ “หุบ” เท่านั้น
ความรับผิดชอบไม่ต้องอยู่ในระดับของบริษัทหรอกครับ เพราะระดับไม่ได้มีนัยยะมากไปกว่าขีดชั้นของกลุ่มคน แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นก่อเกิดอยู่ในจิตของเราทุกคนอยู่แล้ว ถึงแม้จะเป็นโจร เขาก็อยากจะให้คนที่เขารักไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูกมีความสุข
ดังนั้นหากมองในมุมลึก โจรเองก็ไม่ได้มีจิตสำนักแตกต่างจากคนเราเลย เพียงแต่โจรนั้นมีจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบที่คับแคบ ไม่ต้องการแบ่งปันสิ่งใดให้นอกจากคนที่เขารัก จะออกจากจิตของความเป็นโจรได้นั้น ก่อนอื่นต้องรู้จักที่จะขยายความรักที่มีอยู่ในตัวเราให้กว้าง แผ่ขยายมากขึ้น รู้จักรักคนอื่นที่ไม่เกี่ยวดองกับเรา รู้จักรักสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และขอสำคัญคือต้องรู้จักคำว่า “ให้” ครับ
ในความคิดของผมนั้นคุณค่าของคนนั้นไม่ได้วัดว่า “ท่านมีอยู่เท่าไร” แต่วัดกันที่ว่า “ท่านให้ได้มากเท่าไร” ต่างหาก
เกี่ยวกับผู้เขียน
อาจารย์บุริม โอทกานนท์ เป็นประธานสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
e-mail: cmburim@mahidol.ac.th
ที่มา: http://inside.cm.mahidol.ac.th/mkt/index.php?option=com_content&view=article&id=58:-csr&catid=1:mk-articles&Itemid=11