CSR 1 ใน 5 กลยุทธ์ความยั่งยืน P&G โดยวรนุช เจียมรจนานนท์
บทความCSR 1 ใน 5 กลยุทธ์ความยั่งยืน P&G โดยวรนุช เจียมรจนานนท์
วงการของการทำความดี ไม่ควรมีกฎเกณฑ์มากั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินหรือขนาดธุรกิจ แต่ควรมีความบริสุทธิ์ใจที่ได้ทำ โดยวัดผลจากความภูมิใจของพนักงาน
พีแอนด์จี จัดวางตัวเองอยู่ในธุรกิจผู้คน ที่ต้องเข้าไป “สัมผัส” ชีวิต ก่อนที่จะตั้งต้น “พัฒนา” คุณภาพชีวิต อันเป็นที่มาของปรัชญาดำเนินงาน touching life and improving life
ปลายทางของทุกธุรกิจล้วนแล้วแต่ต้องการวิ่งไปหา ความยั่งยืน พีแอนด์จีก็เกาะอยู่ในหัวขบวนเหล่านี้ ฉะนั้นแล้วกระบวนการที่จะไปให้ถึงได้ สำหรับยักษ์ใหญ่อุปโภคบริโภครายนี้ก็คือ การสร้างบันได 5 ขั้นกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน
ประกอบไปด้วย 1. การผลิตสินค้าให้สามารถยืนหยัดและอยู่ได้อย่างยั่งยืน 2. กระบวนการผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเป็นโรงงานภาคส่วนไหนในโลก 3. การรับผิดชอบต่อสังคมที่ธุรกิจไปตั้งอาศัยอยู่ 4. การสร้างคนให้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในองค์กร เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ และ 5. ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสภายใต้ความร่วมมือกับคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจทุกภาคส่วน
“ก่อนไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เราต้องเข้าใจผู้คนให้ถ่องแท้เสียก่อน ดังนั้นการเข้าไปทำความเข้าใจกับคน จึงเป็นเรื่องราวในแบบของพีแอนด์จี ที่ทำให้คนในองค์กรรู้สึกได้ถึงความภาคภูมิใจว่า ทุกวันเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน” เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการสื่อสารทางการตลาดและองค์กร บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดฉากเล่า
ที่ผ่านมากลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้กระบวนการผลิตโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส เป็นที่รับรู้กันดีในวงกว้าง ขณะที่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างคนในองค์กรให้มีส่วนร่วม กำลังเป็นอีกภารกิจหลัก ที่พีแอนด์จี เมืองไทย พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง
เขาให้เหตุผลว่า อนาคตขององค์กรจะขึ้นอยู่กับคนรุ่นเจน Y อายุต่ำกว่า 30 ปีลงมามากขึ้น (เกิดระหว่างพ.ศ. 2520-2537) จากที่ปัจจุบันนี้บริษัทมีคนกลุ่มนี้อยู่ในองค์กรไม่น้อยกว่า 40-50% เป็นจุดที่ทำให้บริษัทต้องมองเลยออกไปว่า เมื่อคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต บริษัทต้องมอง CSR (Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) เป็นโฟกัสหลัก และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้องค์กรเติบโต เป็นไปตาม 1 ใน 5 กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน
“ CSR เป็นเหมือนปุ๋ย ขณะที่เจน Y เหมือนเมล็ดพันธุ์”
ก่อนมารับหน้าที่ดูแลงานทางด้านภาพลักษณ์องค์กร เมธีเคยผ่านงานทางด้านการตลาด พีแอนด์จี ที่สิงคโปร์ ตำแหน่งงานสื่อสารและส่งเสริมภาพลักษณ์ ทำให้เขาได้ทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายHR มากขึ้น จึงกลายเป็นโจทย์ร่วมกันในการสร้างคนในองค์กร ให้เชื่อมต่อกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะบริษัทที่น่าอยู่น่าทำงานด้วยในสายตาคนรุ่นใหม่
“ทุกวันนี้องค์กรแทบจะเหลือคนสองรุ่นคือ เจน X อายุ 30 ปีขึ้นไป กับเจน Y อายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา คนเจน X จะให้คุณค่ากับความสำเร็จในงาน เป็นพวก work hard play hard งานเป็นงาน เที่ยวเป็นเที่ยว ต้องการทำงานหนักเพื่อบั้นปลายชีวิตสุขสบาย ขณะที่คนเจน Y มองว่าการทำงานเหมือนสนามเด็กเล่น work equal to play ตลอดเวลา ถ้างานไม่ชอบทำ เจน Y ขอดองเอาไว้ก่อน แต่ถ้างานไหนโปรด ต่อให้ไม่ได้หลับไม่ได้นอนสองวันเต็มก็ยอมทำ เป็นกลุ่มคนที่รักกิจกรรมเป็นชีวิตจิตใจ”
เป็นที่มาว่าองค์กรต้องสร้างกิจกรรมเพื่อตอบ โจทย์อนาคตของบริษัทเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้ล้อไปกับวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถอยู่และทำงานได้อย่างสุขใจ ควบคู่ไปกับโจทย์ใหญ่ของธุรกิจ
พีแอนด์จี เมืองไทย ดึงโจทย์ของบริษัทแม่ในประเด็นของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ว่าด้วย การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 13 ปี จากการมองว่า เด็กอยู่ในช่วงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำต้องได้รับการประคับประคองดูแล เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป ที่ผ่านมาหลายโครงการพีแอนด์จี จึงเน้นไปที่กิจกรรมทางการศึกษา การให้ทุน รวมถึงการจัดสร้างโรงเรียน ภายใต้โครงการ “หนึ่งปี หนึ่งโรงเรียน”
อยู่ภายใต้กรอบของ 1. live การให้ความรู้กับชุมชนต่างๆ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี 2. learn ให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และ 3. thriveสร้างเสริมทักษะในการใช้ชีวิต โดยการดึงพนักงานให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในฐานะอาสาสมัคร ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาพนักงานได้ร่วมกันทำเก้าอี้กระดาษเปเปอร์มาเชให้แก่เด็กพิการทาง สมองนั่ง ช่วยพัฒนามวลกล้ามเนื้อ
ท่ามกลางกระแส CSR ที่กลาดเกลื่อนในโลกของธุรกิจ เมธีมองว่า หลายครั้งก็คาบเกี่ยวกับความเป็น “การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเชิงการค้า (Commercial Social Responsibility)” มากขึ้น ซึ่งถ้าเริ่มจากการค้า มุมมองทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่ถ้าเริ่มจากใจและความตั้งใจจริง ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเรื่องของการแบ่งปัน
“วงการของการทำความดี ไม่ควรมีกฎเกณฑ์มากั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินหรือขนาดธุรกิจ แต่ควรมีความบริสุทธิ์ใจที่ได้ทำ โดยวัดผลจากความภูมิใจของพนักงาน เราเป็นบริษัทที่สร้างคนจากภายในองค์กร เริ่มจากก้าวแรกถึงซีอีโอ ถ้าเมื่อใดคนไม่สุขใจกับองค์กรเราจะเสียโอกาสในการพัฒนาคนขึ้นระดับสูง หัวใจสำคัญการทำให้คนสุขใจ พีแอนด์จีประเมินว่า ถ้าได้ต่ำกว่า 80% แปลว่าคนไม่ภูมิใจในการอยู่กับพีแอนด์จี”
ที่ผ่านมาอัตราการลาออกของบริษัทแห่งนี้ มีอยู่ในราว 1% หรือเท่ากับทุก 6 ปีถึงจะมีคนลาออก ซึ่งแปลว่า บริษัทดูแลพนักงานเป็นอย่างดี จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจ และยินดีร่วมหัวหกก้นขวิดไปกับองค์กร
“อะไรทำให้คนอยู่แล้วสุขใจคือ 1. สิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง 2. มีหลักการในการทำงาน ไม่เอาเปรียบใคร บอกตรงไปตรงมา เรามีปรัชญา ทำในสิ่งที่ถูก ถ้าเรารู้ว่าเราผิดต้องแก้ เราจะดันทุรังไม่ได้ และ 3. การทำ CSR คือการฝังอยู่ในทุกอณูของบันได 5 ขั้น”
เขาบอกว่า CSR ของพีแอนด์จีอาจจะดูเหมือนการปิดทองหลังพระ เพราะขณะที่กิจกรรมการตลาดของแบรนด์ในเครือพีแอนด์จี วัดผลสำเร็จจากการลงทุน การวัดผลของ CSR เป็นการวัดจากดัชนีมวลความสุขในใจพนักงาน และเรื่องราวที่มีประโยชน์ต่อสังคม
สำหรับเขาและพีแอนด์จี เพียงแค่นี้ก็พอแล้ว
ที่มา:กรุงเทพุรกิจ