http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ซีเอสอาร์ของธนาคารโดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org

บทความ

 

ซีเอสอาร์ของธนาคารโดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org

ในยุคที่ภาคธุรกิจถูกกดดันจากผู้มีส่วนได้เสียภายนอกทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค สังคม รัฐ เอ็นจีโอ และชาวบ้านในชุมชน ให้แสดง "ความรับผิดชอบต่อสังคม" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ซีเอสอาร์" (ย่อมาจาก corporate social responsibility) ในเมืองไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคธนาคารซึ่งเป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบก็มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ทั้งในฐานะองค์กรที่ทำธุรกิจการเงิน และในฐานะ "ตัวกลาง" ที่จัดสรรทุนให้กับธุรกิจอื่น 2 ฐานะนี้ทำให้ธนาคารมีศักยภาพที่จะหนุนเสริมหรือเหนี่ยวรั้งระดับซีเอสอาร์โดยรวมของภาคธุรกิจได้อย่างทรงพลังกว่าธุรกิจอื่น

แต่ธุรกรรมของธนาคารส่วนใหญ่เป็นบริการทางการเงินที่ขับดันด้วยตัวเลขและมันสมอง มองเห็นและประเมินมูลค่าของผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่าง ๆ ไม่ง่ายเหมือนกับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่จับต้องได้ (ลองคิดเล่น ๆ ว่าเรานึกถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคของอะไรได้ชัดเจนกว่ากัน-โรงงานผลิตกระดาษ หรือบัตรเครดิต ?) ทำให้เกิดคำถามว่า รูปธรรมของ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ของธนาคารคืออะไร ?

ก่อนที่จะพูดถึงรูปธรรมของซีเอสอาร์ธนาคาร ลองมาทวนความจำกันเล็กน้อยว่า มาตรฐานด้านซีเอสอาร์ที่เริ่มเป็น "สากล" พอที่หลายพันบริษัทได้นำไปพยายามทำตามนั้นมีอะไรบ้าง

UN Global Compact (http://www. unglobalcompact.org/) ข้อตกลงระดับโลกชุดแรกที่บริษัท หน่วยงานรัฐ เอ็นจีโอด้านแรงงาน เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นร่วมกันคิดค้น โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันมีผู้ลงนามแล้วกว่า 7,700 บริษัท จาก 130 ประเทศทั่วโลก มีหลักการ 10 ข้อ แบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ได้แก่

1.ด้านสิทธิมนุษยชน - ข้อ (1) สนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากล, (2) หมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.ด้านแรงงาน - ข้อ (3) พิทักษ์เสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและการรับรองสิทธิในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง, (4) ขจัดการใช้แรงงานเกณฑ์และแรงงานภาคบังคับทุกรูปแบบ, (5) ยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก, (6) ขจัดการเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานและการประกอบอาชีพ

3.ด้านสิ่งแวดล้อม - ข้อ (7) สนับสนุนหลักความรอบคอบในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม, (8) ริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม, (9) ส่งเสริมการพัฒนาและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.ด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น - ข้อ (10) ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ รวมทั้งการกรรโชกและการติดสินบน

ส่วนซีเอสอาร์ในมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจที่ ISO จะประกาศใช้ในปี 2010 ขยายความข้อตกลงโลกข้างต้นให้ชัดเจน และขยับขยายขอบเขตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ครอบคลุม 7 มิติหลัก ได้แก่ ธรรมาภิบาลขององค์กร (organization governance), ารเคารพสิทธิมนุษยชน (human rights), การปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม (labor practices), ความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม (environment), การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม (fair operating practices) ซึ่งรวมถึงการไม่คอร์รัปชั่น ไม่ใช้ข้อมูลบิดเบือนหรือพฤติกรรมข่มขู่ ในการล็อบบี้ และแข่งขันอย่างเป็นธรรม, ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (consumer issues) และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม (contribution to the community and society)

ถ้าเรานำ ISO 26000 และ UN Global Compact ข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจธนาคาร ซีเอสอาร์ของธนาคารก็น่าจะมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.ธนาคารจะมุ่งพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในองค์กร และไม่ขายผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินให้กับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ใดก็ตาม เพื่อไม่ให้ตัวเองเข้าไปพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น (เช่น ไม่ปล่อย สินเชื่อให้กับบริษัทน้ำมันที่กำลังละเมิด สิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในพม่า)

2.ธนาคารจะไม่กีดกันพนักงานไม่ให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน และเปิดโอกาสให้ พนักงานได้ใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองอย่างเต็มที่ ไม่กลั่นแกล้งผู้นำสหภาพ เช่น หาเรื่องไล่ออกจากงาน (ส่วนเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับคงไม่เป็นปัญหาในธุรกิจธนาคาร)

3.ธนาคารจะไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงาน เช่น ปล่อยให้ผู้บริหารคุกคามทางเพศ จ่ายเงินเดือนผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่ากันในตำแหน่งเดียวกัน หรือตัดสินใจจ้างหรือเลิกจ้างพนักงานเพียงเพราะมีรสนิยมทางเพศ ศาสนา หรือการเมืองตรงหรือไม่ตรงกับผู้บริหาร (คือไม่ได้ตัดสินจากความสามารถเป็นหลัก)

4.ธนาคารจะดำเนินธุรกิจในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ประกาศเป้าหมายและวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้วัสดุรีไซเคิลในที่ทำงาน รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมให้ลูกค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น สินเชื่อสำหรับเทคโนโลยีสะอาด บัตรเครดิตสีเขียว (ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการล้วนดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ฯลฯ

5.ธนาคารจะไม่รับสินบนหรือกรรโชกสินบนจากลูกค้า นักการเมือง หรือบุคคลอื่นใด

6.ธนาคารจะไม่ฮั้วกับคู่แข่งเพื่อใช้อำนาจตลาดกดดันลูกค้า ขึ้นหรือลดดอกเบี้ยไม่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือบีบบังคับคู่แข่งที่รายเล็กกว่า (ละเมิด "หลักการทำธุรกิจที่เป็นธรรม" (fair operating practices) ใน ISO 26000)

ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวไปนั้นเป็นความรับผิดชอบของธนาคารในฐานะองค์กรที่ทำธุรกิจ เหมือนกับธุรกิจสาขาอื่น แต่ในฐานะที่ธนาคารเป็น "สถาบันตัวกลาง" ที่ส่งผลกระทบสูงมากต่อสังคมในฐานะผู้จัดสรรทุนในระบอบเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบของธนาคารจึงต้องมีมากกว่า 6 ข้อข้างต้น เพื่อให้ครอบคลุมภาระหน้าที่ในฐานะสถาบันตัวกลางในงาน "ธุรกิจเพื่อสังคม พลัง ขับเคลื่อนประเทศไทย" วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ได้ยกหลักทศพิธราชธรรม 2 ข้อ คือ อาชวะ (ความซื่อตรง) และอหิงสา (ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น) ว่าจำเป็นต่อ ผู้ประกอบการทางการเงิน ผู้เขียนคิดว่าหลักธรรม 2 ข้อนี้สรุปหัวใจของความ รับผิดชอบที่ธนาคารพึงมีในฐานะสถาบันตัวกลางได้อย่างดียิ่ง นำมาขยายความเป็นข้อ 7 และ 8 ต่อจาก 6 ข้อด้านบนได้ว่า

7.ธนาคารจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง รักษาผลประโยชน์ของลูกค้าใน ทุกกรณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐ และไม่ทำให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะซื่อตรงไม่ได้ เช่น มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ของตัวเองกับของลูกค้า แสวงหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่โดยที่ลูกค้าไม่รับรู้ หรือเอาเปรียบลูกค้า (เช่น ขู่ว่าจะไม่ปล่อยสินเชื่อ ถ้าลูกค้าไม่ยอมขายหุ้นบางส่วนของบริษัทตนให้กับผู้บริหารธนาคารในราคาถูกหรือให้เปล่า)

8.ธนาคารจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยเฉพาะลูกค้าผู้มีความรู้ด้านการเงินน้อยกว่าพนักงานธนาคารมาก เช่น ล่อหลอกให้ลูกค้ากู้เงินเกินตัว คิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรม (เช่น คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันแรกของงวด ไม่ใช่ตั้งแต่วันแรกที่ลูกค้าค้างจ่ายอย่างที่ควรเป็น ทำให้ลูกค้าที่ค้างชำระตั้งแต่วันที่ 25-30 อาจต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตั้งแต่ วันที่ 1-30 ทั้งที่ผิดนัดมาแค่ 5 วันเท่านั้น)

ผู้เขียนคิดว่าหลักการทั้ง 8 ข้อที่กล่าวไปนั้นครอบคลุม "ซีเอสอาร์ของธนาคาร" ในทุกมิติที่ควรจะเป็น และธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมจริงก็ควรต้องมีกลไกที่สร้างแรงจูงใจให้พนักงานของตนทุกระดับปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ ส่วนภาครัฐเองก็ควรจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเทศเพื่อสร้างหลักประกันว่าธนาคารจะมีความ รับผิดชอบในประเด็นที่ส่งผลกระทบสูง เช่น ออกกฎหมายบังคับให้ธนาคารเปิดเผยค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย

ยิ่งสภาพแวดล้อมในประเทศ ไม่เอื้ออำนวย (เช่น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อม หรือธนาคารยังมองไม่เห็นโอกาสทางธุรกิจ) หน่วยงานรัฐยิ่งควรใช้กลไกเชิงสถาบัน เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล บังคับให้สถาบันการเงินรับผิดชอบต่อสังคมในระดับ "ความรับผิดชอบขั้นต่ำ" ที่ควรมี

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าธนาคารควรมีความรับผิดชอบอะไรบ้างที่กฎหมายบังคับให้มี และเรื่องอะไรที่สังคมควรปล่อยให้ธนาคารทำเองโดยสมัครใจ ควรเป็นผลลัพธ์ของการถกเถียงสาธารณะระหว่าง ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพราะความรุนแรงของปัญหาและบริบทของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน

ในรายละเอียดธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคม (มีซีเอสอาร์) ในนิยามข้างต้น แต่ละแห่งน่าจะมีระดับความรับผิดชอบในแต่ละมิติไม่เท่ากัน ธนาคารบางแห่งอาจเป็น "ธนาคารสีเขียว" ที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมและปล่อยสินเชื่อเพื่อ สิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ยังฮั้วกับธนาคารคู่แข่งในการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้เร็วและขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากให้ช้า ธนาคารอีกแห่งหนึ่งอาจเป็นธนาคารขนาดเล็กที่ไม่ฮั้วดอกเบี้ยกับใคร (เพราะเล็กเกินกว่าจะมีอำนาจฮั้ว) แต่เลือกปฏิบัติด้วยการรับแต่ลูกค้าที่มี ความคิดเห็นทางการเมืองที่ตรงใจเจ้าของธนาคาร

ปัญหาและความท้าทายอยู่ที่ว่า เราจะ "รู้" ได้อย่างไรว่าธนาคารแต่ละแห่ง มีความรับผิดชอบในด้านใดมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะโดยบังคับหรือสมัครใจ และข้อมูลบางอย่างก็แทบจะรู้อย่างแน่ชัดไม่ได้เลยถ้าปราศจากการยืนยันของ "บุคคลวงใน" (เช่นข้อกังขาที่ว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของธนาคารเวลาที่พุ่งสูงมากนั้นเกิดจากการฮั้วกันของธนาคารรายใหญ่ หรือแค่เป็นผลลัพธ์ของภาวะการแข่งขัน ที่ไม่สมบูรณ์เพราะมีเจ้าใหญ่ไม่กี่รายที่ครองตลาด)

ปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งในโลก ที่ก้าวไปไกลกว่าการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่พยายามเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาอย่างแข็งขันไปสู่การพัฒนาอย่าง ยั่งยืน ดังตัวอย่างของธนาคารทรีโอดอส ผู้บุกเบิกวงการ "การธนาคารที่มีศีลธรรม" และ "การธนาคารที่ยั่งยืน" ที่ผู้เขียนเคยแนะนำไปก่อนหน้านี้

ธนาคารแบบทรีโอดอสผนวกรวมแนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เข้าไปในธุรกิจหลัก ผสานผลประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ พันธกิจ และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของธนาคาร เช่น นำหลักเกณฑ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ (socially responsible lending) และกลยุทธ์การลงทุนของธนาคารเองและของลูกค้า (socially responsible investment) ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจที่ได้รับการยอมรับแล้วว่ายั่งยืนจริงถ้าทำจริง เช่น เทคโนโลยีสะอาด อาหารปลอดสารพิษ พลังงานหมุนเวียน สินค้าแฟร์เทรด ไมโครไฟแนนซ์ และธุรกิจเพื่อสังคม สามารถเข้าถึงทุน ได้อย่างง่ายดายกว่าเวลาติดต่อธนาคารกระแสหลัก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 

 

aphondaworathan