กิจการเพื่อสังคมคืออะไร
บทความ
กิจการเพื่อสังคมคืออะไร?
Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยกันมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า CSR ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ายังมีเป้าหมาย คือ “กำไรสูงสุด” แต่ขณะเดียวกันเจ้าของธุรกิจบางคนให้ความสนใจ ช่วยเหลือสังคม จึงแบ่งสรรปันกำไรบางส่วนไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิ เงินช่วยเหลือ จ้างแรงงานในพื้นที่
ทว่า กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) นั่นก็คือ กิจการที่มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า และ/หรือการให้บริการ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจน ตั้งแต่แรกเริ่ม หรือมีการกำหนดเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเท่านั้น
อย่างเช่นกรณี ธนาคารกรามีน หรือ ธนาคารคนจน ที่ มร.มูฮัมหมัด ยูนูส นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านซึ่งยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอเพียงที่จะกู้เงินจากธนาคารทั่วไป และตั้งเกณฑ์การคิดคำนวณดอกเบี้ยไว้ว่า ต้องไม่สูงกว่ายอดเงินต้น ลูกหนี้ไม่จ่ายเมือไร ดอกเบี้ยจะหยุดนิ่งทันทีไม่มีทบต้นทบดอก เป็นต้น
การดำเนินการมากกว่า 30 ปี พบว่าคนกู้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ชำระหนี้คืน และทำให้ชาวบังกลาเทศที่ยากจนติดอันดับโลก ยกสถานะชีวิตความเป็นอยู่พ้นเส้นความยากจนเฉลี่ยปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้น
จึงอาจแบ่งลักษณะพิเศษกิจการเพื่อสังคม ดังต่อไปนี้
• กระบวนการผลิต การดำเนินกิจการ รวมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม
• มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
• มีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง
• ผลกำไรส่วนใหญ่ถูกนำไปเพื่อการลงทุนกลับไปในการขยายผลเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หรือคืนผลประโยชน์ให้แก่สังคม หรือผู้ใช้บริการ
• สามารถมีรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย
• มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
ลักษณะของกิจการเพื่อสังคม เป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ ผลตอบแทนในด้านสังคม/สิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนทางการเงิน โดยมีพื้นฐานจากความสนใจของเจ้าของกิจการ (Social Entrepreneur) ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการของธุรกิจและการทำประโยชน์แก่สังคมร่วมกันนั่นเอง
ที่มา: http://bangpan.org/content/110105112620