http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

CSR ในประโยคบอกเล่า โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

บทความ

 

CSR ในประโยคบอกเล่า โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่อง CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ และจะอินเทรนด์ยิ่งขึ้น ถ้ารู้จักเรื่อง Sustainability หรือ ความยั่งยืน สองเรื่องนี้มักจะถูกหยิบยกมาพูดพร้อมๆกัน ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมีการพูดถึงองค์กรที่ประพฤติตัวดีหรือเป็นที่ยอมรับของสังคม

เวลาที่เราได้ยินว่า องค์กรนั้นองค์กรนี้มี CSR Strategy ที่โดดเด่น ก็มีองค์กรแบบข้ามาทีหลังต้องดังกว่าบอกว่า กลยุทธ์ที่เค้าใช้นั้นมัน beyond CSR ไปแล้ว ของเค้านั้นไปถึง Sustainability Strategy เรียบร้อยแล้ว โอ้แม่เจ้า หลายคนจึงสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า แล้วเจ้า CSR กับ Sustainability มันต่างกันหรือไม่ และต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทั้ง CSR และ Sustainability นั้น ภาษาไทยแปลนำหน้าด้วยคำว่า ความ” (รับผิดชอบต่อสังคม) และ ความ” (ยั่งยืน) ไม่ใช่ การรับผิดชอบต่อสังคม หรือ การยั่งยืน จึงต้องจัดว่าเป็น สภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมหรือด้วยความยั่งยืน ไม่ใช่ สิ่ง (object) หรือเรื่อง (subject) ที่จะดำเนินไปเองได้

ในที่นี้ จะถือโอกาสอธิบายความต่างของ CSR กับ Sustainability อย่างง่ายๆ โดยใช้การเทียบเคียงรูปประโยคในภาษาอังกฤษเป็นตัวดำเนินเรื่องละกันนะครับ

ในประโยคบอกเล่า ที่มี ประธาน (subject) กริยา (verb) กรรม (object) ยังมีคำขยายสองชนิดที่ใช้บ่อยก็คือ คำคุณศัพท์ (adjective) กับคำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ครั้นจะทำความเข้าใจสองคำขยายนี้ ตามที่แปลเป็นภาษาไทยคงมึนตึ๊บแน่

Ad ที่เติมหน้า -jective กับ -verb แปลว่า ขยาย หรือ ชี้สภาพของสิ่งนั้น adjective จึงเป็นคำขยายนาม คือ เป็นเครื่องชี้สภาพของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ส่วน adverb คือ คำขยายกริยา จึงใช้เป็นเครื่องชี้สภาพของการกระทำ (โดยประธาน) หรือ การถูกกระทำ (ของกรรม) ในประโยค

เมื่อเราไม่ได้จัดว่า CSR และ Sustainability เป็นประธานหรือกรรมของประโยค แต่เป็นสภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น CSR กับ Sustainability จึงน่าจะเทียบเคียงได้กับ adjective หรือ adverb ในประโยคบอกเล่า ปัญหามีต่อไปว่า แล้ว CSR ควรเป็น adjective หรือ adverb กันล่ะ  หากพิจารณาน้ำหนักของคำที่ CSR จะต้องไปขยายระหว่าง ผู้ทำ (หรือสิ่งที่ถูกกระทำ) กับ การกระทำแล้ว ก็น่าจะเห็นพ้องได้ว่า CSR ควรเป็นคำขยายกริยา หรือ adverb ที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำหรือการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าที่จะไปขยายตัวองค์กรหรือสิ่งที่องค์กรทำโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการผลิตสินค้าให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ต้องการที่จะผลิต (สินค้า) อย่างรับผิดชอบ เพื่อให้ได้สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคม และส่งผลให้องค์กรได้รับการยอมรับจากสังคมตามไปด้วย

ขณะที่คำว่า Sustainability ควรเป็นคำขยายนาม หรือ adjective ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ทำหรือสิ่งที่ถูกกระทำมีความยั่งยืนจากผลแห่งการกระทำหรือการดำเนินงานนั้นมากน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะไปขยายอากัปกิริยาหรือการกระทำนั้นโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องการที่จะดูแลรักษา (สิ่งแวดล้อม) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนทำให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน หรือเกิดเป็นอานิสงส์ให้องค์กรมีความยั่งยืนไปด้วย

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว CSR จึงเป็นเสมือนกลไกหรือเครื่องมือ (mean) ในการดำเนินการที่จะนำพาองค์กร (ในฐานะผู้ดำเนินการ) และสังคม (ในฐานะเป้าหมายของการดำเนินการ) ไปสู่จุดหมาย (end) แห่งความยั่งยืนจากการดำเนินการนั้นๆ

เราไม่สามารถบรรลุจุดหมาย โดยปราศจากการคำนึงถึงวิธีการที่ใช้ฉันใด องค์กรก็ไม่สามารถได้ความยั่งยืนมาโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น ฉะนั้น หากองค์กรมัวแต่คิดเรื่องกลยุทธ์ความยั่งยืน โดยไม่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะการได้มาซึ่ง Sustainability ยังไงก็ข้ามเรื่อง CSR ไปไม่ได้

การอธิบายเทียบเคียงข้างต้นนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า CSR กับ Sustainability มีบทบาทที่แตกต่างกัน ตามหน้าที่ของคำในประโยค มิได้หมายความว่า CSR เป็น adverb และ Sustainability เป็น adjective จริงๆ ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ (ในความเป็นจริง adverb นอกจากขยายคำกริยาแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์หรือขยายคำกริยาวิเศษณ์เองด้วย)...

ที่มา: http://pipatory.blogspot.com/

aphondaworathan