http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

CSR-DIW คืออะไร?

บทความ

 

CSR-DIW คืออะไร?

CSR-DIW คือโครงการส่งเสริมสถานประกอบการรวมพลังสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสุขอย่างยั่งยืน (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works: CSR-DIW) ซึ่งโครงการนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอได้จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ร่วมทั้งเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถดำเนินกิจการร่วมกับชุมชนและได้รับการยอมรับจากชุมชนรอบข้าง อันจะเป็นการเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระดับสากล

โครงการดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 2553 อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 นั้น มีโรงงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 31 ราย และมีโรงงานที่ได้รับโล่และเกียรติบัตรมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม จำนวน 28 ราย ในปี 2552 มีโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 110 ราย และมีโรงงานที่ได้รับโล่ และเกียรติบัตร จำนวน 80 ราย และในปี 2553 มีโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 111 ราย และมีโรงงานที่ได้รับโล่ และเกียรติบัตร จำนวน 96 ราย รวมทั้งสิ้น ตั้งแต่ปี 2551 2553 มีโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 251 ราย และมีโรงงานที่ได้รับโล่และเกียรติบัตร จำนวน 204 ราย โดยในปี 2554 ทางโครงการได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ จำนวน 140 ราย

ตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับโล่และเกียรติบัตรตั้งแต่ปี 2551-2553 อาทิ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทสมบูรณ์แอ็ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด และบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด และบริษัท แชมป์กบินทร์ จำกัด บริษัท เอเซียพรีซิชั่น จำกัด บริษัท ไทยคอรเทนเนอร์ (ทีซีซี) จำกัด โรงงานปทุมธานี บริษัท เซ็นทรัล มอเตอร์วีล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด (โรงงานขอนแก่น) บริษัท คาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมหาชัย บริษัท โตชิบา คอนซูเมอร์ โปรดัคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินิแบ ไทย จำกัด (โรงงานลพบุรี) บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด บริษัท ไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) โรงงานกาญจนบุรี บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด โรงงานมาบตาพุด กลุ่มน้ำตาลมิตรผล บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด โรงงานบางชัน กลุ่มบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟีนิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) โรงงานสระบุรี กลุ่มบริษัท บางกอกโฟม บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน)

การดำเนินโครงการ CSR-DIW ในปี 2554 นั้น จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตลอดจนเพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถนำมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (CSR-DIW) ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ผู้บริโภค จัดการสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนใกล้เคียงได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้สถานประกอบการสามารถดำเนินกิจการร่วมกับชุมชนและได้รับการยอมรับอย่างยั่งยืน รวมทั้ง เพื่อให้มีแบบรายงานที่เป็นไปตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (CSR-DIW Reporting Initiative) ที่สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมในประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับของสากล

โดยคุณสมบัติของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ คือ โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ที่ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ยกเว้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการ 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมยาสูบ กิจการประเภทการพนัน และการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และธุรกิจการให้ความบันเทิงผู้ใหญ่ รวมทั้งยังต้องไม่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกฟ้องร้องในศาลยุติธรรม และคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ โครงการ CSR-DIW นั้น ดำเนินการตามกรอบสาระหลัก 7 ประการของมาตรฐาน ISO 26000 ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Corporate Governance) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor Practice) สิ่งแวดล้อม (Environment) การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating Practice) ผู้บริโภค (Consumers Issue) และการมีส่วนร่วมต่อสังคมและชุมชน (Community Involvement and Development) ตลอดจนได้กำหนดแนวทางการจัดทำแผนงานร่วมกับสังคมและชุมชน ซึ่งต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ คือ สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจและขีดความสามารถขององค์กร พนักงานมีส่วนร่วม ชุมชนมีส่วนร่วม และเป็นการดำเนินการมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการด้านสังคมนั้น ต้องไม่มุ่งเน้นที่การบริจาคเท่านั้น แต่ต้องพยายามดำเนินการให้ครอบคลุมถึง การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกับองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรม การสร้างงานและการพัฒนาทักษะให้กับคนในชุมชน การพัฒนาชุมชน ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย การสร้างรายได้ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนให้มีสุขภาพที่ดี และการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในชุมชน

การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสามารถแสดงให้คู่ค้าเห็นทั้งในรูปของเอกสาร และมีความพร้อมในการรองรับการทวนสอบมาตรฐานดังกล่าวของคู่ค้าด้วย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับโลก ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการการกีดกันที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) เข้ามาแทนที่ นอกจากนี้ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจในการดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 26000 สามารถต่อยอดจากโครงการดังกล่าว โดยอาจใช้เวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน ในการได้รับมาตรฐาน ISO 26000 ได้ในที่สุด

ที่มา: http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=14D2786A7E13972A57153AC1CBAD34B1&query=usPUydG3IOS3wiC56dMgt9S+wuwgqNOh0bQg5LTpIElTTyAyNjAwMA==  / บทสัมภาษณ์นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและนายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

aphondaworathan