สูตรสร้างแบรนด์ ?แสนดี?
บทความ
สูตรสร้างแบรนด์ “แสนดี” ป้อนโลก
พัฒนาการของแบรนด์ในยุค“คิดดี ทำดี” เป็นนิสัยถึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน กลายเป็นการเดิมพันผู้ประกอบการยุคใหม่ ให้ต้องปรับตัวเป็นแบรนด์แสนดี
พัฒนาการของการสร้างแบรนด์ในสินค้าและบริการ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย พวกมันออกสตาร์ทตัวเองจากยุคของการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย (Function) เคลื่อนสู่ยุคของการเสริมสร้างความรู้สึก (Emotional Value) มาสู่ยุคการสร้างบุคลิกภาพ (Personal Image) ยุคของการสร้างประสบการณ์ร่วม (Experiential Design) ก่อนจะเข้าสู่ยุคปัจจุบัน คือ ยุคของการตอบแทนสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม (Social and Environmental Contribution)
“สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์” นักออกแบบหัวใจสีเขียว อาจารย์พิเศษและคอลัมนิสต์มากผลงาน หอบเอาความน่าสนใจของการสร้างแบรนด์ในยุคธุรกิจติดจรวด มาร่วมแบ่งปันกับผู้ประกอบการหัวใจ “คิดดี ใจดี”
เมื่อรูปแบบของการบริโภคสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โลกออนไลน์ทำให้ผู้คนเสพข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อมากขึ้น แบรนด์ที่เคยประสบความสำเร็จ ถ้าหยุดอยู่กับที่ก็มีสิทธิ์ล้มหายไปได้ง่ายๆ ขณะที่แบรนด์น้องใหม่ก็พร้อมโลดแล่นสู่ตลาดที่ไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกัน
“ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้อง รู้ให้ทัน คั้นให้ถูก ว่าธุรกิจของเราควรนำเสนออะไรให้กับตลาด ผมมองว่าเป็นยุคของธุรกิจ คิดดี ใจดี คือยุคที่ผู้ผลิตนอกจากจะหารายได้เข้าสู่กระเป๋าของตัวเองแล้ว ยังต้องตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย”
สุวิทย์ บอกเราว่า เหตุผลที่ธุรกิจต้องหันมาใส่ใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องมาจากผลิตภัณฑ์และบริการที่พวกเขาทำอยู่ อาจกำลังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างปัญหามลพิษทางด้านเสียงและอากาศ ปัญหาน้ำเสีย เป็นต้น
ดังนั้นผู้ผลิตนอกจากจะต้องคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ยังจะต้องคิดค้นหาวิธีลดปริมาณการใช้ทรัพยากรในการผลิตลงด้วย เช่น โครงการภายใต้แนวคิด Eco Value ของ SCG ที่สะท้อนให้เห็นถึงการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรในการผลิตกระดาษ เป็นต้น
ขณะที่งานออกแบบในยุคนี้ สุวิทย์บอกว่า จะเป็นการนำเอาศาสตร์ของ “Green Design” และ “Sustainable Design” เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างองค์กร รวมไปถึงการตอบแทนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากร การคิดค้นนวัตกรรมด้านวัสดุและขบวนการผลิตในรูปแบบใหม่ การใช้พลังงานที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ใหม่
ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีต้นแบบให้เห็น ที่สำคัญต้นแบบแบรนด์น้ำดีเหล่านี้ ล้วนมีนามสกุลไทยแท้
สุวิทย์ ยกตัวอย่าง โรงแรมมีเอกลักษณ์และชื่อน่าพักอย่าง “พระนครนอนเล่น” ที่กลั่นกรองจากหัวใจของผู้บริหาร โรส-วริศรา มหากายี สะท้อนความจริงว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่การสร้างแบรนด์ ต้องสร้างจาก “หัวใจ” ที่แท้จริง มากกว่าการสร้าง “แบรนด์เทียม” ที่มาจากการปรุงแต่งเติมสีลอกเลียนแบบคู่แข่ง
“ที่นี่ไม่เหมือนกับโรงแรม 5 ดาวทั่วไป หรือบูติคโฮเต็ลที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยนำเอาธรรมชาติเข้ามาผูกมิตรกับโรงแรม รวมไปถึงแขกผู้มาพักได้อย่างลงตัว ตั้งแต่การตกแต่งสถานที่ให้มีพื้นที่สีเขียวกระจายไปทั่วทุกจุด งานออกแบบและการตกแต่งภายในอาคารได้นำธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจของแบรนด์มาเป็นตัวขับเคลื่อน โรงแรมแห่งนี้ยังไม่ได้ทำตัวโดดเด่นเตะตา ในทางตรงกันข้ามกลับทำตัวกลมกลืนไปกับย่านเก่ากลางเมืองกรุงอย่างชุมชนแถวเทเวศร์”
นักออกแบบรักษ์โลก ยังบอกเราว่า การนำธรรมชาติมาสร้างเอกลักษณ์ให้กลมกลืนกับโรงแรม ไม่ได้มีเพียงแค่ “รูปลักษณ์” หากยังรวมถึงการปลูกฝังความเป็นอยู่อย่างธรรมชาติให้กับแขกผู้มาเยือน เปรียบเหมือนการนำ Brand Experience ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงและสัมผัส มาสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับโรงแรมได้อย่างลงตัว
เช่นเดียวกับความงดงามของแนวคิด “อารีย์การ์เด้นท์” ของ ปณิดา ทศไนยธาดา พื้นที่กว่า 1 ไร่ ติดถนนในซอยอารีย์สัมพันธ์ ถ้าไม่ถูกนำไปสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ก็อาจเนรมิตเป็นคอนโดมิเนียมได้ง่ายๆ เพราะเป็นที่ทราบดีว่า มันสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับทำเลทองแห่งนี้ แต่นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่เช่นเธอ กลับเลือกสร้างพื้นที่สีเขียวร่มรื่นแทนการเติบโตของแท่งคอนกรีต
“อารีย์การ์เด้นท์ มีแนวคิดต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเหมือน “สวนหลังบ้าน” ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในซอยอารีย์สัมพันธ์ ไม่ว่าจะนั่งทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ พนักงานออฟฟิศหรือคนที่ขี่จักรยานมาจากบ้าน ทุกคนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมภายในได้อย่างสบายใจ เหมือนกับเปิดประตูหลังบ้านแล้วเดินเข้าไปอยู่ในสวนของตัวเอง”
สุวิทย์ บอกว่า “อารีย์การ์เด้นท์” มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นต้นไม้กว่า 50% ส่วนพื้นที่ที่เหลือถูกออกแบบให้เป็นร้านค้าขนาดเล็กที่มีรูปแบบกลมกลืนไปกับสวนสีเขียว เช่น ร้าน Polka Dot Café กับอาหารอิตาเลียนสไตล์ Fusion ร้าน Chubby Chang’s ร้านเบเกอรี่ และGift Shop HOBS, Salad Story เป็นต้น
“นอกจากนี้พวกเขายังจัดกิจกรรมเพื่อให้สวนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของคนที่อยู่ในย่านนี้จริงๆ เช่น กิจกรรมทุกเสาร์อาทิตย์ ในช่วงเดือนธันวาคมจะมี Workshop อบรมการเย็บสมุด การทำ Scrapbook และการเปิดร้านสินค้าทำมือจาก Thai Craft เป็นต้น”
คนเชื่อในพลังของแบรนด์แสนดีบอกเราว่า “อารีย์การ์เด้นท์” คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาบวกกับงานออกแบบ ถ่ายทอดแนวคิดหลักของการทำธุรกิจ จาก “สวนหลังบ้าน” ที่ฝันไว้ กลายมาเป็น “สวนหลังบ้าน” ของคนในชุมชนนี่คือการสร้าง “มูลค่าทางใจ” ที่สำคัญยิ่งต่อการสร้าง “ความผูกพัน” ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
สุวิทย์ ยังบอกว่า ภาพลักษณ์ขององค์กรในปัจจุบันไม่ได้ผูกติดอยู่กับ Life Style ของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ยังพ่วงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับตัวอย่างของธุรกิจคิดดีทำดีที่เขาเอ่ยถึง
แม้พัฒนาการของผลิตภัณฑ์จะถูกเปลี่ยนบทบาทไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค สภาวะแวดล้อม และทัศนคติทางสังคม แต่สุวิทย์บอกว่า ไม่ว่ารูปแบบ “แบรนด์” จะมีพัฒนาการไปในทิศทางไหน
ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ต้นตอ” ของการสร้างแบรนด์ โดยแบรนด์นั้นยังคงต้องมีมาตรฐานและสามารถตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างเต็มร้อย
“เพราะต่อให้แบรนด์ของคุณจะ Think Green หรือตอบแทนสังคมได้เกินร้อย แต่ถ้าต้นตอของแบรนด์ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคได้แล้ว แบรนด์ที่แสนดีของคุณก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในตลาดได้นานอย่างแน่นอน”
นี่คือ อีกต้นแบบคนคิดดี ที่อยากเสนอสูตรสร้างแบรนด์ “แสนดี” ป้อนโลก
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20110414/385878/สูตรสร้างแบรนด์-แสนดี-ป้อนโลก.html