รายงาน CSR ปี 54 แบบไหนดี โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความรายงาน CSR ปี 54 แบบไหนดี โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ปัจจุบัน การรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR Reporting ได้ทวีความสำคัญจนกิจการหลายแห่งได้ดำเนินการจัดทำเป็นเอกสารรายงานที่เรียกกันว่า CSR Report เผยแพร่ควบคู่กับรายงานประจำปี (Annual Report) ขององค์กร ซึ่งมีชื่อเรียกที่หลากหลาย อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability report) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development หรือ SD report) รายงานความเป็นพลเมือง (Citizenship report) รายงานไตรสังสิทธิ (Triple-bottom line report) ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนให้องค์กรใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลผลประกอบการในแง่มุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การจัดทำรายงาน CSR ของหลายองค์กร มีสถานะเป็นเพียงหนังสือรายงานข้อมูลประจำปี (Yearbook) ที่เป็นการรวบรวมความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรอบปี โดยเนื้อหาของรายงานส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลจากโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ขององค์กรที่เน้นการเปิดเผยผลการดำเนินงานในเชิงผลผลิต (output) ในรายโครงการ แทนที่จะเป็นผลลัพธ์ (outcome) หรือผลกระทบ (impact) ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน
แม้ว่าการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน จะเป็นกระบวนการที่เพิ่มเติมจากการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรโดยปกติทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการจัดทำรายงานดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่ามีคุณค่าหลายประการ เช่น
• | ให้ภาพที่ชัดเจนแก่องค์กรต่อการสร้างผลกระทบหลักทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม |
• | สามารถระบุถึงโอกาสและความเสี่ยงในกิจกรรมที่องค์กรดำเนินอยู่ |
• | ทำให้ทราบถึงบริเวณหรือส่วนงานบริหารโดยรวมที่ควรได้รับการปรับปรุง |
• | เพิ่มความผูกพันกับพนักงานที่อยู่เดิม และดึงดูดบุคลากรใหม่ๆ ที่สนใจเข้าร่วมงาน |
• | ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและสร้างสรรค์วิธีดำเนินงานที่ดีกว่าในปัจจุบัน |
• | ช่วยเพิ่มชื่อเสียง ความภักดีของลูกค้า และความนับถือในชุมชน |
• | ทำให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน |
• | เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเป้าประสงค์ทางธุรกิจกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกๆ วันของการปฏิบัติงาน |
• | วัดผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น |
• | สานเสวนากับผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดจุดมุ่งเน้นหลัก การบริหารและการระบุถึงโอกาสต่างๆ |
• | สื่อสารถึงความสำเร็จและความท้าทายขององค์กร |
• | วางแผนองค์กรตามข้อมูลที่ได้ข้างต้น |
ที่มา: http://pipatory.blogspot.com/