6 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ CSR โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความ6 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ CSR โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
เริ่มต้นศักราชปีกระต่าย ผมก็ยังได้รับคำถามเกี่ยวกับ CSR ที่พบอยู่บ่อยๆ จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เลยถือโอกาสนำเอาคำถาม-คำตอบบางส่วนในหนังสือเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 3) ที่จัดทำโดยสำนักงาน ก.ล.ต. มาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันอย่างถ้วนหน้า
1. CSR ทำเพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์?
แนวคิดพื้นฐานของ CSR คือ การทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน การที่ธุรกิจทำ CSR ธุรกิจยังต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในการบริหารกิจการให้มีผลกำไร และยังเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน รวมถึงสามารถขยายกิจการให้เจริญเติบโตในสังคมและชุมชนที่ธุรกิจดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับประโยชน์จากการทำ CSR จะส่งผลถึงผู้เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในแง่มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น ประโยชน์ต่อพนักงานทำให้เกิดความสุขและความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวธุรกิจเองในการเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับธุรกิจด้วย นอกจากนี้การทำ CSR ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทนด้วย
2. การบริจาคถือเป็น CSR หรือไม่ อย่างไร?
การบริจาคพอจะอนุมานได้ว่าเป็น CSR แบบหนึ่ง แต่ผลที่ได้อาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเงินหรือของที่บริจาคไปอาจไม่ได้ช่วยให้ผู้รับสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เช่น การบริจาคเงินให้ผู้ยากไร้อาจก่อให้เกิดประโยชน์ ในระยะสั้น เปรียบเทียบกับการสอนอาชีพให้แก่คนชุมชน ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนนั้นสามารถดำรงชีพด้วยตนเองต่อไปได้ในระยะยาวย่อมมีความยั่งยืนมากกว่า
ดังนั้นในแวดวง CSR ในระยะหลัง จึงมีการพูดถึง “การบริจาคเชิงกลยุทธ์” (Strategic Philanthropy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผสมผสานเป้าประสงค์หลักในทางสังคมและในทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน คำนึงถึงการเลือกเป้าหมายที่สามารถได้รับประโยชน์จากทรัพยากร และความเชี่ยวชาญที่บริษัทมีเหนือองค์กรอื่น ในอันที่จะส่งผลกระทบทั้งทางสังคมและทางธุรกิจ ซึ่งมิใช่เรื่องของการมุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้แก่องค์กร
3. บริษัทเพิ่งเริ่มต้นทำ CSR จะปฏิบัติตามรูปแบบ CSR ของบริษัทอื่นได้หรือไม่?
บริษัทอาจศึกษารูปแบบการดำเนินการด้าน CSR ของบริษัทอื่นเป็นแนวทางได้ แต่ควรนำมาปรับให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจและทรัพยากรของบริษัท ในบางกรณี บริษัทก็อาจเข้าร่วมกิจกรรม CSR ของบริษัทอื่นได้เช่นกัน หากเห็นว่ามีความเหมาะสม ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันทำ CSR โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กหรือ SME จะช่วยให้ประหยัดทรัพยากร เพิ่มสมรรถภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน ได้เป็นอย่างดี
4. บริษัทที่ยังไม่มีความพร้อม เช่น บริษัทขนาดเล็ก บริษัทที่ผลประกอบการยังไม่มีกำไร ยังไม่ควรทำ CSR ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ เพราะการทำ CSR นั้นมีหลายด้าน และบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หรือบางเรื่องเป็นการดำเนินการภายในกิจการที่พึงทำตามปกติอยู่แล้ว เช่น การดูแลพนักงานเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาพนักงาน การมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ การทำ CSR บางเรื่องก็เป็นการดำเนินการที่ใช้ทรัพยากรบุคคลของบริษัทดำเนินการได้ เช่น การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นต้น
5. เมื่อทำ CSR แล้ว จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้หรือไม่?
การประชาสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนสนับสนุนการทำ CSR เท่านั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการทำ CSR โดยการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ ทั้งการประชาสัมพันธ์ภายในเพื่อเป็นการให้ข้อมูลสื่อสารให้สมาชิกในองค์กรมาร่วมมือกัน และการประชาสัมพันธ์ภายนอกเพื่อเป็นการสื่อสารกับสาธารณชน ให้สังคมได้รับรู้และมีส่วนร่วมในสิ่งที่องค์กรทำ
6. รายงาน CSR คืออะไร และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดทำรายงาน?
รายงาน CSR (CSR Report หรือ Sustainability Report) เป็นรายงานที่บริษัทจัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้ทราบโครงการ/กิจกรรมที่บริษัททำเกี่ยวกับ CSR ข้อมูลในรายงานจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการด้าน CSR ทั้งนี้ รายงาน CSR อาจเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี หรือจะทำแยกเป็นรายงานต่างหากก็ได้ โดยปัจจุบันรูปแบบรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล คือ แนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI) ตลอดจนข้อแนะนำในมาตรฐาน ISO 26000 ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ได้ให้แนวทางในการรายงานสาธารณะ หรือ Public Reporting เกี่ยวกับ CSR ไว้