เดือนที่ต้องส่งรายงานการจัดการพลังงาน โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความเดือนที่ต้องส่งรายงานการจัดการพลังงาน โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าทุกวงการได้นำ Green Concept มาใช้พัฒนากระบวนการดำเนินงานในกิจการให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันอย่างถ้วนหน้า คำประกาศของภาคธุรกิจที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) การพัฒนาผู้ค้าสีเขียว (Green Dealer) การคิดค้นนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว (Green Factory) และอาคารสีเขียว (Green Building) ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (action) มิใช่ทางเลือก (option) อีกต่อไป
โดยตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 กำหนดให้อาคารสถานศึกษา สำนักงาน โรงมหรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน โรงแรม สถานพยาบาล และอาคารชุดที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 กำหนดให้โรงงานและอาคารที่ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้า (มิเตอร์) ตัวเดียวหรือหลายตัวรวมกันมีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ ขึ้นไป หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 1,175 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า ความร้อนจากไอน้ำหรือพลังงานสิ้นเปลืองอย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการจัดการพลังงานส่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (เริ่ม มี.ค. 54)
โดยในรายงานดังกล่าว ต้องมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ขั้นตอนการประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น ขั้นตอนการกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานและการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน และขั้นตอนการทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน โดยรายงานการจัดการพลังงานดังกล่าวนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้ตรวจสอบพลังงาน
สำหรับรายชื่อโรงงานและอาคารควบคุมที่จะต้องจัดทำรายงานการจัดการพลังงานเพื่อจัดส่งให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานภายในเดือนมีนาคมของทุกปี มีจำนวน 3,728 โรงงาน และ 2,024 อาคาร (ข้อมูล ณ เดือน ม.ค. 54) โดยสามารถดูรายชื่อโรงงานและอาคารควบคุมได้ที่http://bit.ly/ecp1992
ที่มา: http://pipatory.blogspot.com