6 ทิศทาง CSR ปี 2553
บทความ
6 ทิศทาง CSR ปี 2553
สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำรายงานทิศทางซีเอสอาร์ประจำปี 2553 เผยแพร่ในการแถลงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 เมื่อวันที่ 28 มกราคม โดยมีทั้งหมด 6 ทิศทางดังนี้
ทิศทางที่ 1 ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้น green concept มากขึ้น โดยองค์กรหลายแห่งได้พยายามผนวกความเป็นสีเขียวเข้าในฝั่งอุปทานให้ได้ตลอดทั้งสาย (greening the supply chain) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product) สู่ตลาด
ในปีนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งสนใจให้ความสำคัญกับฉลากคาร์บอนและผลิตภัณฑ์ที่แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิต จากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มี ประสิทธิภาพดีขึ้น
หน่วยงานหลายแห่งจะทำงาน ร่วมกันในการรณรงค์ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าแนวคิดสีเขียวจะถูกนำมาใช้ในกระบวนงานต่าง ๆ อาทิ green design, green purchasing, green logistics, green meeting, green marketing, green services ฯลฯ รวมถึงการนำขยะหรือของเสียจากกระบวนการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการแปรรูปหรือแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจ ภายใต้หลักการ greening waste ตลอดจนการปรับตัววัดทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกรอบของ green GDP ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจที่จะเติบโตมากในอนาคต คือ green business หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
ทิศทางที่ 2 ความคาดหวังในบทบาทของรัฐต่อเรื่อง CSR จะสูงขึ้น หลังจากเกิดกรณีเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
ในปีนี้ นอกจากรัฐบาลจะต้องกำชับให้หน่วยราชการต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการดูแลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ตามทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยบูรณาการมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนให้เกิดความสมดุลทั้งระบบแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและชุมชนที่ก้าวพ้นจากการทำพอเป็นพิธีไปสู่การสนองความคาดหวังของชุมชนได้อย่างแท้จริง
แนวโน้มการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม (กรอ.สังคม) ที่ยกระดับจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในแบบเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรค 2 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ จะถูกกำหนดให้ดำเนินการในรูปแบบของเขตพื้นที่หรือเขตอุตสาหกรรมนิเวศ (ecoindustrial estate) เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ทิศทางที่ 3 การปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ จุดปกติใหม่ (new normal) จะเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว
ลักษณะของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤตจะมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่เชื่องช้า การว่างงานยังคงมีอัตราสูง การก่อหนี้ของภาคประชาชนมีแนวโน้มลดลง และมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติเดิมก่อนวิกฤต แทบไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน กระแสเรื่องจุดปกติใหม่หรือ new normal จึงเกิดขึ้นท่ามกลางวิถีของการปรับตัวทางเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า
ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าว่าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน ทำให้บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่ สำหรับวางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อรองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้กันอย่างขะมักเขม้น
ทิศทางที่ 4 มาตรฐาน ISO 26000 จะเริ่มลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นเป็น รูปธรรม
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ยกร่างมาตรฐาน ISO 26000-social responsibility (SR) โดยกำหนดหัวข้อที่บ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (organizational governance) สิทธิมนุษยชน (human rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (labour practices) สิ่งแวดล้อม (the environment) การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (fair operating practices) ประเด็นด้านผู้บริโภค (consumer issues) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (community involvement and development) ซึ่งมีกำหนดจะประกาศเป็นมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ในปี 2553 นี้
อย่างไรก็ดี มาตรฐาน ISO 26000 นี้ เป็นมาตรฐานข้อแนะนำ (guidance standard) มิใช่มาตรฐานระบบการจัดการ (management system standard) เพื่อใช้สำหรับการรับรอง (certification) หรือนำไปใช้เป็นข้อบังคับ (regulatory) หรือใช้เป็นข้อตกลง (contractual) ฉะนั้นการเสนอให้มีการรับรองหรือกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 26000 จึงผิดไปจากเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรฐาน
ทิศทางที่ 5 CSR จะถูกหยิบยกเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ
ในปีนี้ประเทศไทยมีข้อตกลงการเปิดเสรีสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านำเข้า 8,300 รายการ มีอัตราภาษีลดเหลือ 0% สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ส่วนอาเซียนอีก 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ได้รับการอนุโลมให้ลดภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะต้องลดภาษีรายการสินค้าทั้งหมดให้ไม่สูงกว่า 5% ในปีนี้ และให้เหลือ 0% ในปี 2558 (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูง)
แล้วในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่ออาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้เกิดตลาดที่มีขนาดถึง 580 ล้านคน ในปีนี้ความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) และสาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) จะมีผลบังคับใช้นับจากเดือนมกราคม และความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาคธุรกิจจึงจำต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพราะจากนี้ไป มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวก็จะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่าง ๆ จะหันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ชนิดอื่น ๆ ซึ่งอนุญาตให้แก่ประเทศสมาชิก WTO ด้วยวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช และเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีการค้าและก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ภายใต้เงื่อนไข (1) คุณภาพสินค้า (2) ความปลอดภัยของ ผู้บริโภค และ (3) สิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคทาง การค้า (TBT) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) มาตรการสิ่งแวดล้อม (ENV) ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติทางซีเอสอาร์แทบทั้งสิ้น
ทิศทางที่ 6 CSR จะแผ่ขยายลงไปสู่สถานศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากการตอบรับในระดับอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง
ส่วนในปีนี้การส่งไม้ต่อเรื่อง CSR ในภาคการศึกษา จะขยายลงไปสู่กลุ่มโรงเรียนเป็นครั้งแรก เราจะได้เห็นโครงงาน CSR ที่ให้นักเรียนศึกษาทำความเข้าใจ CSR บูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันแสดงความเป็นจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 31,821 โรง ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553-2555) ของรัฐบาล
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4180 ประชาชาติ