CSR Hot Issues 2010
บทความ
CSR Hot Issues 2010
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2552 ที่ผ่านมา ต้องนับว่ากระแสการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (corporate social responsibility : CSR) นั้นอาจจะเรียกว่าก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงที่สุดของความ ตื่นตัวนับตั้งแต่แนวคิดนี้เข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีหลัง
แม้ในภาพรวมจะยังต่างในแง่ของความเชื่อ และแนวคิด ขณะที่ธุรกิจจำนวนหนึ่งเชื่อว่า CSR จะต้องผสานเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ จำนวน ไม่น้อยก็ยังเชื่อว่า CSR เป็นเพียงส่วนเสริมและเป็นการ "คืนกำไรสู่สังคม" ซึ่งธุรกิจพึงทำในฐานะพลเมืองที่ดีในการดำเนินการผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมเพียงเท่านั้น
ไม่ว่าใครจะเลือกเชื่อและเลือกทำในแบบใด แต่หากทอดสายตายาวไกลไปข้างหน้ากับประเด็นร้อนและความเคลื่อนไหวภายใต้ร่มเงา CSR ที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมมานำเสนอในฉบับนี้นั้น จะเป็นประโยชน์เพียงพอที่ทำให้คนขับเคลื่อน CSR ในหลายองค์กรนั้นสามารถนำไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เคยมี เคยทำให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น และทำให้ CSR ที่ขับเคลื่อนอยู่สามารถนำพาองค์กรก้าวเดินไปสู่ถนนของความยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้กับสังคมและองค์กรได้ อย่างที่ต้นธารของความคิดในเรื่อง CSR หวังว่าจะให้เป็น
และนี่คือทั้ง 12 ประเด็นที่เราเชื่อว่าจะร้อนแรงยิ่งในปี 2552
1.การมีส่วนร่วมของพนักงาน
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่คนมักพูดถึงต่อการขับเคลื่อน CSR ในองค์กร คือ การสร้างพนักงานที่มีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ หากแต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กระทั่งองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง "เนสท์เล่" ที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน ยังใช้เวลากว่า 4-5 ปีในการปลุกจิตสำนึกที่ว่าผ่านช่องทาง "อาสาสมัคร พนักงาน" และแม้กระทั่งหากสแกนดูองค์กรธุรกิจที่เป็น "ผู้นำ" ในเรื่อง CSR อาทิ ดีแทค ธนาคารไทยพาณิชย์ เซ็นทรัลพัฒนา ฯลฯ ผู้ที่รับบทบาทในการขับเคลื่อน CSR ในองค์กรนั้นยังยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และทำให้พนักงานเชื่อเช่นเดียวกับสิ่งที่องค์กรเชื่อ ทั้งเรื่อง "จิตอาสา" (employee volunteer) ตลอดจนการเทรนนิ่งความรู้ด้าน CSR ให้กับพนักงานของธุรกิจ จึงเป็นเรื่องในกระแสที่เชื่อว่าจะเห็นว่าธุรกิจต่างให้น้ำหนักมากขึ้นและมากขึ้นในปี 2553
2.ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society)
หากจะสังเกตในปี 2552 ที่ผ่านมา เริ่ม ปรากฏให้เห็นการประกาศตัวขององค์กรธุรกิจ ภายใต้แนวคิดการก้าวสู่ "สังคมคาร์บอนต่ำ" หรือ low carbon society โดยไม่เพียงแต่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังมีการลงทุนปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจในทุกด้านเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ว่า ก่อนหน้าที่จะหยุดยาวปีใหม่ไม่กี่วัน คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) ซึ่งมีสมาชิกเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ บางจากปิโตรเลียม โคคา-โคลา ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ก็เพิ่งประกาศให้เรื่องนี้เป็นทิศทางของปี 2553 ขององค์กร โดยให้เหตุผลว่าในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกในเครือข่ายต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมีการดำเนินการในทางปฏิบัติมาก ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะมีการตกลงและออกมาตรการร่วมกันเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้เกิดผลกระทบภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น
3.การมาถึงของร่องรอยคาร์บอน (carbon footprint) และฉลากคาร์บอน (carbon label)
ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีธุรกิจชั้นนำในไทย ประกาศนำร่องในเรื่องของ "ร่องรอยคาร์บอน" หรือ "คาร์บอนฟรุตพรินต์" อาทิ เทสโก้ โลตัส ซีพีเอฟ ฯลฯซึ่งเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในฝั่งผู้ผลิต โดยดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรของการทำธุรกิจ ขณะที่ฉลากคาร์บอน หรือคาร์บอนเลเบล ถือเป็นการแก้ปัญหาเดียวกันในฝั่ง ผู้บริโภค ปัจจุบันในไทยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (อบก.) ได้ให้กำเนิดฉลากคาร์บอนแล้วในไทย ซึ่งจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อเป็นส่วนประกอบให้ผู้บริโภคตัดสินใจ และในอนาคตเชื่อว่านี่จะกลายเป็นมาตรการที่ผู้ซื้อและร้านค้าปลีกทั่วโลกจะให้ความสำคัญ ดังนั้นถ้าใครยังไม่รู้จักทั้ง 2 เรื่องนี้จะรู้จักดียิ่งขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน
4.การรณรงค์สร้าง "ผู้บริโภค ที่มีความรับผิดชอบ" (responsible consumer)
ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี ผู้เชี่ยวชาญ CSR จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเสนอแนวทางไว้ว่า การจะให้ CSR เกิดในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาในฝั่งองค์กรธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันต้องสร้างความแข็งแกร่งและสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในหมู่ "ผู้บริโภค" เพราะหากเมื่อใดที่ผู้บริโภคใช้ปัจจัยเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ย่อมเป็นเรื่องผลักดันสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในฝั่งธุรกิจ แม้ที่ผ่านมาเรื่องนี้ในไทยจะยังไม่เข้มแข็งนัก แต่การเปิดตัวโครงการการค้าผูกพันของ "เอสซีจี" เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ในการส่งเสริมให้พนักงานเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เป็นสัญญาณที่ดีว่าเรื่องนี้น่าจะกลายเป็นประเด็นที่คนขับเคลื่อน CSR ในแต่ละองค์กร ต้องจับตาและเดินตามรอยผู้นำในอนาคตอันใกล้
5.ขยับก้าวจาก "สินค้าสีเขียว" (green product) สู่ "สินค้าเพื่อสังคม" (social product)
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีธุรกิจจำนวนมาก "ลอนช์" ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากสแกนความเคลื่อนไหวแบบจริง ๆ จัง ๆ จะเห็นว่า มีความพยายามของหลายองค์กรที่จะผสานคุณค่าทางสังคมเข้าไปในตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญในลักษณะที่ผูกติดสินค้ากับการบริจาค อาทิ การนำส่วนแบ่งจากยอดขาย เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ "ไลอ้อน" แห่งเครือสหพัฒน์ ที่เปิดตัวสินค้าภายใต้แบรนด์ "ซื่อสัตย์" โดยหวังผลให้เกิดการรณรงค์ทางสังคมเพื่อกระตุ้นให้ ผู้บริโภคตระหนักกับเรื่องคุณธรรมและความซื่อสัตย์ และเป็นสินค้าที่ตอบสนองด้านความรู้สึกไปพร้อมกับคุณสมบัติการใช้งาน และนี่น่าจะเป็นเกมรุกด้านการตลาดที่น่าจะมีผู้ตามมาอีกมากมายในไม่ช้า
6.การคิกออฟ ISO 26000
หลังจากปีที่ผ่านมา ธุรกิจจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวในการปรับตัวเตรียมพร้อมรับมาตรฐานใหม่อย่าง ISO 26000 มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ใหม่เอี่ยมแกะกล่องและพร้อมที่จะประกาศใช้ในปี 2553 นี้ ดังนั้นทันทีที่มาตรฐานนี้ประกาศใช้ แม้ว่าจะเป็นมาตรฐานที่เป็นไปตามความสมัครใจและไม่ต้องมีการรับรอง แต่ก็เชื่อว่าจะได้รับความสนใจและขยายวงสู่ธุรกิจในเซ็กเตอร์อื่น ๆ อย่างแน่นอน
7.สู่มาตรฐานในระดับเซ็กเตอร์
ไม่ใช่แค่ ISO 26000 ที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน CSR ในองค์กรธุรกิจไทยให้มีมุมมองที่กว้างขวางขึ้นและหลากมิติมากขึ้นกว่าการทำงานในระดับกิจกรรมเพื่อสังคม ในเวลาเดียวกันทั้งสัญญาณจากนักวิชาการที่ติดตาม CSR ในไทย ตลอดจนผู้นำในองค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งต่างเห็นพ้องกันว่า มาตรฐานการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับเซ็กเตอร์ หรือมาตรฐานเฉพาะในรายอุตสาหกรรม จะปรากฏให้เห็นมากขึ้นในปีนี้ และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้แต่ละธุรกิจต้องทำงาน CSR อย่างเป็นระบบมากขึ้น ดูอย่างความพยายามในการปรับตัวของ "การบินไทย" ในช่วงไม่นานมานี้ ก็เป็นเพราะในอุตสาหกรรมการบินได้มีข้อตกลงร่วมกันในการที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และนั่นรวมถึงการออกกฎหมายของประเทศในสหภาพยุโรป ที่ชัดเจนว่าสายการบินที่ไม่สามารถลดคาร์บอนได้ตามเป้าหมายที่เขาวางไว้จะไม่สามารถทำการบินได้ และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่พอจะทำให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นของการที่ธุรกิจจะต้องเร่งเครื่องทบทวนและปรับปรุง CSR ขององค์กรในอนาคต
8.จับตาการก่อตัวของการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) และนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible investor)
จะว่าไปการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (social reponsible investment : SRI) และนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible investor) ไม่ได้เป็นประเด็นที่ใหม่นัก และในต่างประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกา ในระยะเวลาเพียง 10 ปีมีการลงทุนในลักษณะที่ว่านี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีจำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นจาก 600 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2538 มาเป็น 2,300 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 ที่ผ่านมาในวงเล็ก ๆ ของนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่างก็เริ่มพูดถึงเรื่องนี้มาพักใหญ่ คาดการณ์กันว่าในปี 2553 เรื่องนี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากการประกาศแนวปฏิบัติการพิจารณาการลงทุนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในไทย ซึ่งต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา
9.รายงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (social report/SD report)
แม้ว่าปัจจุบันจะมีธุรกิจที่ประกาศ นโยบาย และมีการดำเนินงานด้าน CSR จำนวนมาก หากแต่ในมุมของการสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) รับรู้เรื่องราวดังกล่าวยังแทบไม่ปรากฏ แต่จากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" เมื่อไม่นานมานี้พบว่า มีองค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ในอนาคตอันใกล้ จึงมีความเป็นไปได้มากว่าในปี 2553 นี้ นอกจากจะเห็นรายงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังจะเห็นพัฒนาการในการจัดทำรายงานที่เทียบเคียงในระดับสากลมากขึ้นด้วย
10.ผู้ประกอบการทางสังคม (social enterprise)
ในประเทศอังกฤษ ขณะที่เศรษฐกิจแทบจะโงหัวไม่ขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ปรากฏชัดเจนว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ประกอบการทางสังคม" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจที่ไม่เพียงธุรกิจอยู่รอด แต่ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยเยียวยาและแก้ปัญหาสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กลับมีรายได้และอัตราการเติบโตแบบสวนทางกับผู้ประกอบการปกติ ในปี 2552 นอกจากเราจะมีโอกาสได้ยินคำนี้ และเริ่มเห็นผู้ประกอบการทางสังคมแบบตัวเป็น ๆ ปรากฏผ่านหน้าสื่อมากขึ้น ในปี 2553 ยังมีโครงการและกิจกรรมเป็นจำนวนมากที่เชื่อว่าจะทำให้เรื่องนี้มีการขยายตัวมากขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะความพยายามในการเชื่อมโยงการทำงาน CSR ของธุรกิจกับการดำรงอยู่ของผู้ประกอบการทางสังคม ส่วนจะเป็นอะไรยังไงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
11.การลงทุนทางสังคมและการพัฒนาสังคม (community improvement)
โครงการเพื่อสังคมและกิจกรรมเพื่อช่วยพัฒนาชีวิตผู้คนในสังคม ที่แม้จะมีอยู่มากแล้วในปัจจุบัน ในปี 2553 นี้ก็เชื่อว่าจะยังมีโอกาสพบเจอโครงการและกิจกรรมเหล่านี้อยู่ เพราะจะอย่างไรนี่ถือเป็นบริบททางสังคมที่สำคัญในประเทศกำลังพัฒนาเช่นบ้านเรา ที่ยังมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และยังคงมีปัญหาที่ดำรงอยู่ในหลายพื้นที่ที่ภาครัฐไม่สามารถจะเข้าไปมีส่วนเยียวยา เพียงแต่เชื่อว่าในปี 2553 จะเริ่มเห็นวิธีการทำงานที่ต่างออกไป ทั้งในลักษณะของการทำงานร่วมกับพันธมิตรกับองค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงการพยายามพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิ ผลมากขึ้น เพราะการทำเรื่องนี้แบบ หลอก ๆ กำลังส่งผลเสียถึงความเชื่อมั่น และเป็นบทเรียนแล้วกับหลายองค์กร
12.หนทางสู่ความร่วมมือระดับเครือข่าย (CSR networking)
ในปี 2552 การเกิดขึ้นของ CSR Club ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 27 องค์กร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการ CSR ที่กำลังก้าวข้ามจากเส้นแบ่งแบบต่างคนต่างทำ มาสู่การทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นหากติดตามความเคลื่อนไหวจะเห็นว่าในปี 2552 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นในการพัฒนาโครงการร่วมกันขององค์กรธุรกิจมากมายหลายโครงการ ซึ่งเป็นการแบ่งปันทั้งทรัพยากรและจุดแข็งที่แต่ละคนมีมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อให้โครงการมีความแข็งแรงขึ้น และเชื่อว่าจะได้เห็นภาพของการสานต่อการทำงานในระดับความร่วมมือแบบนี้เพิ่มมากขึ้นในปี 2553
วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4172 ประชาชาติธุรกิจ