http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ต่อยอด CSR เป็น CSV

บทความ

 

ต่อยอด CSR เป็น CSV

แนวโน้มหนึ่งในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่ทางสถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลไว้ใน 6 ทิศทาง CSR ปี 2557 คือ แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) จะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมเพิ่มมากขึ้น
 

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ประเมินว่าจะมีธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นทางสังคม ที่สร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ โดยมีผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นสิ่งจูงใจเพิ่มมากขึ้น

แนวคิด CSV ถูกพัฒนาต่อยอดจาก CSR เชิงกลยุทธ์ โดยไมเคิล อี พอร์เตอร์ กูรูด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้นิยามว่า คือ การนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

องค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนแนวคิด CSV ให้เกิดเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ จะมีการนำประเด็นปัญหาสังคมมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ

ขณะที่ในบริบทของ CSR การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ จะครอบคลุมทั้งในเรื่องและประเด็นทางสังคมที่องค์กรต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องและประเด็นที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่จำกัดว่าเรื่องนั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม แนวคิด CSV จึงมิได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาทดแทนเรื่อง CSR หรือเรื่องความยั่งยืน


การขับเคลื่อน CSV จึงมีความแตกต่างกับเรื่อง CSR เชิงกลยุทธ์ และ Philanthropy เริ่มจากแรงจูงใจที่องค์กรต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มิใช่เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความใจบุญที่มีต่อชุมชน หรือแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนทรัพยากรที่ใช้ในการขับเคลื่อน CSV ก็อยู่ในงบประมาณปกติขององค์กร มิได้ถูกเจียดออกมาเป็นเงินทุนสนับสนุนในรูปของเงินให้เปล่าหรือเงินบริจาค หรือจัดสรรแยกออกมาเป็นงบ CSR ต่างหาก

ในแง่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ การขับเคลื่อนเรื่อง CSV เป็นการทำงานข้ามสายงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในทุกๆ ส่วนงาน มิได้จำกัดอยู่เพียงแผนก CSR หรือ แผนกความยั่งยืน หรือขึ้นอยู่กับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปของมูลนิธิแยกต่างหากจากการดำเนินงานของกิจการ

ซึ่งรูปแบบที่ปรากฏในการขับเคลื่อน CSV มักจะให้ผลเป็นตัวแบบใหม่ทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดความสามารถในการทำกำไรระยะยาว มากกว่าเป็นเพียงแผนงาน โครงการ หรือความริเริ่ม ที่มุ่งสร้างค่าความนิยม หรือชื่อเสียง และการยอมรับจากสังคม ทั้งนี้ สังคมจะได้รับการแก้ปัญหาที่ยืนยาวจากการขับเคลื่อน CSV นอกเหนือจากการได้รับทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการบริจาค หรือทรัพยากรที่ดีขึ้นจากกิจกรรม CSR ขององค์กร

สำหรับองค์กรที่สนใจในการนำแนวคิด CSV ไปใช้ อาจริเริ่มดำเนินการในระดับที่ต่างกันตามแต่ละองค์กร ขึ้นกับความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ หรือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม

โดยองค์กรต้องสามารถที่จะระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมให้สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ดำเนินการ เพื่อใช้กำหนดทิศทางในการตอบโจทย์การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมได้อย่างชัดเจน

ที่มา : http://www.pipat.com/2014/03/csr-csv.html

aphondaworathan