ใคร ๆ ก็อยากทำ CSR
บทความ
ใคร ๆ ก็อยากทำ CSR
โดย ดุสิต รัชตเศรษฐนันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารทรัพยากร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
เวลาเดินทางผ่านไปเร็วมาก ๆ ไม่ ทันไรก็สิ้นปีอีกแล้ว ยืนยันความเร็วได้จากบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับวิธีทำ CSR ตามแบบฉบับของผมนี้ เผลอแป๊บเดียวก็มาถึงตอนสุดท้ายแล้วเช่นกัน ที่ผ่านมาผมได้บอกถึงวิธีในการดึงคนเข้าร่วมมือ และวิธีทำควรต้องมีการวางแผนกำหนด เป้าหมาย เมื่อทำตามนี้ไปได้สักพักโครงการจะเริ่มอยู่ตัวหรือพูดง่าย ๆ ว่าเริ่มติดตลาดแล้ว ก็ได้เวลาขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้กว้างยิ่งขึ้น แล้วในงาน CSR จะขยายฐานออกไปได้อย่างไรดี เอาละ...วันนี้เรามาพูดเรื่องการขยายฐาน หรือขยายเครือข่ายกัน
ก่อนอื่นต้องมาดูประโยชน์ของการขยายฐาน ถ้าคิดในแง่บวกซึ่งฮิตกันมากในยุคนี้ ถ้ามีการขยายฐานเราจะได้ creative idea ใหม่ ๆ จากการระดมสมอง 100-1,000 พลังสมองแทนที่จะมีแค่ 10-20 จากทีมทำงานเท่านั้น มีทรัพยากรมหาศาล และมีทุนมากขึ้นให้ไปทำความดีโดยไม่ติดขัด แล้วอาจจะได้ของแถมเป็นการประชา สัมพันธ์ในวงกว้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก เพียงแค่เราคิดกันว่า "ใคร ๆ ก็อยากทำความดีขอให้บอกเถอะ" เหมือนกับการทำกฐินผ้าป่าที่ใคร ๆ เห็นซองและรู้ว่าจะไปทำอะไรก็อยากจะร่วมทำบุญ แป๊บเดียวได้ห้องน้ำ ได้หลังคา หรือได้โรงเรียนแล้ว ถ้าเราทำคนเดียวก็อาจจะได้ แต่นานหน่อย นอกจากว่าเรามีเงินถึงพอ
มาเริ่มที่การระดมสมองอาจจะเริ่มที่พนักงานภายในองค์กรก่อน หาทางเปิดโอกาสให้พนักงานฝ่ายต่าง ๆ ทุกระดับได้แสดงแนวคิดวิธีการทำ CSR ที่สามารถนำไปทำได้จริง โดยวิธีง่าย ๆ ที่มักจะทำกันคือการจัดประกวดหาแนวคิดใหม่ขึ้น แนวคิดใครดีเราจะนำไปทำให้ พร้อมให้เครดิต และอาจมีรางวัลหรือใบประกาศเกียรติคุณยกย่อง ซึ่งผู้ชนะจะได้รับความภูมิใจและเป็นที่ยอมรับและรู้จักมากขึ้นในองค์กร ทีมทำงานจะได้แนวคิดที่หลากหลายมาจากประสบการณ์ของหลาย ๆ ฝ่ายที่คาดไม่ถึง องค์กรจะได้ประชาสัมพันธ์และปลูกฝังความรู้สึก ความเป็นเจ้าของ CSR ในใจพนักงาน แค่นี้มีแต่ได้กับได้ทุก ๆ ฝ่าย
สำหรับการระดมทรัพยากรจะดีแค่ไหนถ้าทุกโครงการ CSR มี sponsors คำถามคือแล้วจะหามาได้จากที่ไหน ง่ายมากลองมองไปรอบ ๆ ตัวดูซิ ใช่แล้วองค์กรยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีหลากหลายสายงาน ถ้าสายงานต่าง ๆ นำความสามารถมาช่วยเหลืองานต่าง ๆ ก็ราบรื่นเร็วขึ้น เช่น สายงาน graphic ไปสอนศิลปะ สายงานบัญชีไปสอนคิดเลขให้น้องตามบ้านที่เราเข้าไปสนับสนุน นอกจากกำลังคนแล้วอาจจะเป็นสิ่งของก็ได้ เช่น สายงานทรัพยากรนำคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้วมาปรับปรุงไปสร้างห้องคอมพิวเตอร์ หรือสายงานจัดซื้อดิว อุปกรณ์เครื่องเขียนราคาพิเศษให้ ไม่เพียงเท่านี้ถ้ามองออกไปข้านอกก็จะเห็น partners ที่ดิวกับทางสายงาน marketing ที่พร้อมจะช่วยเหลืออยู่ ทั้งในโครงการระยะสั้นและโครงการระยะยาว เช่น การจัด fun fair หารายได้เพื่อการกุศลขององค์กร ซึ่งเป็นงานแค่วันสองวันจบ อาจจะบอกบุญไปในรูปเชิญมาเปิดร้านขายของราคาพิเศษ ขอของมาประมูลหรือเป็นรางวัลจับสลาก หรือขออุปกรณ์บางอย่างที่เราไม่มีหรือมีไม่พอ เช่น พวกเต็นท์หรือชุดโต๊ะ-เก้าอี้มาใช้โดยไม่ต้องไปเช่า สำหรับโครงการระยะยาว เช่น ถ้าเราเป็นบริษัทขายวัสดุก่อสร้าง
ซึ่งถนัดการทำ CSR ไปสร้างโรงเรียนตามชนบท แต่ถ้าเราจับมือกับ partners ที่เป็นบริษัทขายอุปกรณ์สื่อสร้าง เราจะได้โรงเรียนติดจานดาวเทียมเป็นสื่อการเรียนการสอนทางไกลเพิ่มขึ้นอีกด้วย เป็นต้น อย่างนี้ทุกฝ่ายมีได้กับได้เช่นกัน องค์กรจะได้มีที่ recycle วัสดุนำไปใช้ประโยชน์แทนที่จะทิ้งเสียเปล่า ได้ประหยัดงบประมาณสามารถนำเงินไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น และได้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับ partners จากการทำกิจกรรมความดีร่วมกัน ส่วน partners จะได้มีโอกาสให้พนักงานได้ทำความดีสร้างความภูมิใจในองค์กร และผู้รับคงไม่ต้องบอกว่าจะได้รับอะไร
สุดท้ายระดมทุน วิธีนี้สามารถทำได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร วิธีง่าย ๆ เช่น เปิดรับอุปการะด้านการศึกษาโดยการบริจาคเงินเดือนละ 100 บาทจากพนักงานผ่านการหักบัญชีเงินเดือน 100 บาท เราอาจจะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารเพียงมื้อเดียว แต่ถ้า 100 หรือ 1,000 คนมารวมกันอาจจะส่งเด็กคนหนึ่งเรียนจบปริญญาได้ สำหรับภายนอก เช่น ถ้าเป็นบัตรเครดิตอาจจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าสละ point แทนที่จะไปแลกสินค้าที่ไม่อยากได้ เปลี่ยนเป็นนำ point แลกบุญแทนจะดีแค่ไหน
จะเห็นได้ว่าการทำ CSR ทำกันง่าย ๆ เพียงเริ่มต้นที่ใจเท่านั้น และที่สำคัญถ้าคิดจะทำต้องทำทันทีอย่าผัดเพียงรอให้พร้อม 100% ก่อนค่อยทำ เพราะอย่างที่รู้กันว่า "เวลาไม่เคยรอใคร"
วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4172 ประชาชาติธุรกิจ