มีอะไรใน WEF ที่กรุงเทพฯ โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความมีอะไรใน WEF ที่กรุงเทพฯ โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ในสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะร่วมกับเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ WEF on East Asia (30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 55) ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยมีธีมหลักของการประชุมคือ การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง ที่จะร่วมกันหารือใน 3 เรื่อง ได้แก่ การทบทวนรูปแบบของภูมิภาคสำหรับโลกยุคใหม่ การรับมือกับความเสี่ยงในภูมิภาค และการบรรลุความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำภาครัฐบาล ผู้บริหารเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนระดับโลกกว่า 700 คน เข้าร่วมงาน
ไทยได้แสดงความประสงค์จะเป็นเจ้าภาพการประชุม WEF on East Asia มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยเห็นว่า จะเป็นเครื่องแสดงความเชื่อมั่นของประชาคมธุรกิจโลกต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของไทย โดยเมื่อต้นปี 2554 WEF ได้เลือกให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF on East Asia เป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาคมเศรษฐกิจโลก ที่มีต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในการฟื้นตัวจากวิกฤตการเมืองไทย
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการเมืองของไทยให้แก่นักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำของโลก รวมถึงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจไทยจากการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวของผู้เข้าร่วมการประชุมและเจ้าหน้าที่ WEF ไม่ต่ำกว่า 31.5 ล้านบาท (ประเมินขั้นต่ำจากผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมผู้ติดตามและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 700 คน)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมย่อย หรือที่เรียกว่า Private Session ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้พิจารณาจัดกิจกรรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การสาธารณสุข การเกษตร และพลังงาน ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมย่อย
ปัจจุบัน มีภาคเอกชนไทยที่ได้เข้าเป็นสมาชิก WEF แล้วจำนวน 16 แห่ง ได้แก่ ปตท. การบินไทย ไทยเบฟเวอร์เรจ ธนาคารกรุงเทพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ช.การช่าง ธนาคารกรุงไทย เซ็นทรัลพัฒนา ไออาร์พีซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บ้านปู แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส บางจากปิโตรเลียม น้ำตาลมิตรผล และศรีไทยซุปเปอร์แวร์
ผลประโยชน์อื่นที่ได้หลังจากการจัดประชุมฯ หากประเมินจากที่อินโดนีเซียจัดเมื่อครั้งที่แล้ว มีตัวเลขรายได้การลงทุนจากต่างประเทศที่หน่วยงาน BOI ของอินโดนีเซียระบุว่า หลังจากจัดการประชุม WEF on East Asia ในปี 2554 ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐเกาหลี ได้ให้คำมั่นในการลงทุนประมาณ 6.2 แสนล้านบาท หรือราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมรถยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค แก่ประเทศอินโดนีเซีย
การจัดประชุมฯ ครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำรายงานพิเศษด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสบการณ์ในด้านการจัดประชุมระหว่างประเทศ และการขยายโอกาสทางธุรกิจและการชักจูงการค้าการลงทุนสู่ไทยอีกด้วย