http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

บทความ

สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

คำถามหนึ่งที่พบบ่อยสำหรับองค์กรที่ทำ CSR แบบบ้านๆ คือ “จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสื่อสารหรือบอกกล่าวให้สังคมหรือผู้อื่นได้รับรู้ถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร”

ยิ่งไปกว่านั้น บางองค์กรที่ทำ CSR บอกเลยว่า เราไม่เคยตั้งงบสำหรับทำประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารโฆษณางาน CSR ขององค์กร และยังสำทับด้วยว่า ทำความดีแบบของจริง ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ อ้างตำรา “ปิดทองหลังพระ” เข้านั่น

ไม่มีตรรกะหรือข้อเท็จจริงใดนะครับที่บอกว่า ทำความดี แบบปิดทองหลังพระ คือ ดีจริง แต่ถ้าทำความดีแบบป่าวประกาศให้ผู้อื่นรู้ คือ ดีไม่จริง

ลองถ้าได้ ‘ทำดี’ แบบเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะประกาศหรือไม่ ‘ความดี’ นั้น ก็ยังมีปริมาณตามที่ได้ทำอยู่เหมือนเดิม

ต่างจากการ ‘ทำดีเล็กน้อย’ แต่คุยโวว่าเป็น ‘ความดีมหาศาล’ เป็นการขยายปริมาณสิ่งที่ได้ทำเกินจริง ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า พฤติกรรมนี้ไม่น่าพึงประสงค์ เข้าข่ายโกหกหลอกลวง ผิดศีลข้อ 4 ด้วยซ้ำ

ฉะนั้น การบอกกล่าว ‘ความดี’ ตามที่ทำจริง จึงอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ไม่จำเป็นต้องยกตำราปิดทองหลังพระ มาใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้สบายใจว่า ไม่ใช่เพราะตนเองสื่อสารไม่เป็น หรือไม่สามารถบอกให้คนอื่นเห็นความดีของตนได้

เพราะหากยึดตามที่ราชบัณฑิตยสถานแปลคำว่า ปิดทองหลังพระ คือ ‘ทําความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า’ ยิ่งทำให้เข้าใจขึ้นไปอีกว่า ปิดทองหลังพระ ไม่ใช่ทำนอง ‘ดีจริงต้องปกปิด’ แน่ๆ

ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือทางทำความดี มีทั้งเรื่อง ‘ปัตติทานมัย’ คือ การทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (คือ การบอกกล่าวหรืออุทิศให้อนุโมทนา) กับ ‘ปัตตานุโมทนามัย’ คือ การทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น (คือ การอนุโมทนาเมื่อได้ยินการบอกกล่าวหรือได้รับรู้)

หมายความว่า บุญยังเกิดจากการอุทิศบุญที่ตนเองได้ทำ ให้แก่ผู้อื่น และยังเกิดจากการยินดีในบุญที่ผู้อื่นได้ทำด้วย ฉะนั้น หากองค์กรที่ได้ทำ CSR แล้วบอกกล่าวแก่สังคมหรือผู้อื่นให้ได้อนุโมทนาหรือพลอยยินดีตามด้วย ก็ถือว่า องค์กรได้ทำ ‘ปัตติทานมัย’ และสังคมได้ทำ ‘ปัตตานุโมทนามัย’

แต่หากองค์กรไม่บอกกล่าว หรือสื่อสารไม่เป็น หรือเจตนาที่จะคุยโวโอ้อวด แทนที่ผู้อื่นจะได้อนุโมทนา แต่กลับไม่ยินดีด้วย หนำซ้ำเกิดความหมั่นไส้ ทั้ง ปัตติทานมัย และ ปัตตานุโมทนามัย ก็ไม่เกิดทั้งคู่

จะเห็นว่า นอกจากที่การทำ CSR ของจริงจะได้บุญแล้ว เรายังสามารถสื่อสารเรื่อง CSR ที่ได้ทำไปนั้น เพื่อยังให้เกิดบุญได้อีกต่อหนึ่งด้วย

สำหรับผู้ที่มีคำถามว่า บุญที่ได้ทำจากกิจกรรม CSR ปริมาณหนึ่ง หากเฉลี่ยส่วนบุญนี้ให้แก่ผู้อื่น บุญที่ได้จากการทำนั้น จะลดลงตามส่วนหรือไม่

ในอรรถกถา พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ได้ตอบคำถามแก่นายอันนภาระ คนหาบหญ้าผู้ไม่ค่อยมีอันจะกิน ได้ถวายบิณฑบาตที่มีบุญมาก แล้วมีเศรษฐีมาขอแบ่งส่วนบุญ ว่าควรให้หรือไม่ควรให้ ดังนี้


“… บัณฑิต เราจักทำอุปมาแก่ท่าน เหมือนอย่างว่า
ในบ้านตำบลนี้มีร้อยตระกูล เราจุดประทีปไว้ในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้น
ตระกูลพวกนี้เอาน้ำมันเติมให้ใส้ตะเกียงชุ่มแล้วมาต่อไฟถือไป
แสงของประทีปดวงเดิมยังมีอยู่หรือหาไม่

นายอันนภาระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า
แสงประทีปก็สว่างขึ้นไปอีก เจ้าข้า

ข้อนี้อุปมาฉันใด ดูก่อนบัณฑิต
ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือข้าวสวยทัพพีหนึ่งจงยกไว้
เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่คนเหล่าอื่นในบิณฑบาตของตน
พันคนหรือแสนคนก็ตาม ให้แก่คนเท่าใด
บุญก็เพิ่มขึ้นแก่ตนมีประมาณเท่านั้น

เมื่อท่านให้ก็ให้บิณฑบาตอันเดียวนั่นแหละ
ต่อเมื่อให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีอีกเล่า
บิณฑบาตก็ขยายไปเป็น 2
คือของท่านส่วนหนึ่ง ของเศรษฐีส่วนหนึ่ง ดังนี้...”


ดังนั้น หลักการสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (ที่ได้จากพุทธธรรม) ก็คือ บอกตามจริง (เพื่อไม่ให้ผิดศีล) และสื่อสารเป็น (เพื่อให้เกิดการอนุโมทนาตามบุญกิริยาวัตถุ)

เอวัง การสื่อสารเรื่อง CSR ก็มีด้วยประการฉะนี้ แล

ที่มา : http://pipatory.blogspot.com/2012/05/csr.html

aphondaworathan