พนักงานก็ทำ CSR ได้
(ภาพประกอบ CSR DAY: Prachuap Port Company Limited CREDIT:http://www.blogssi.com/360degree/?cat=1&paged=5)
กระแส CSR กำลังมาแรง แรงเสียจนภาพถูกบิดเบือนไปจากสิ่งที่เป็นจริง บางแห่งทำ CSR เพื่อหวังผลทางการประชาสัมพันธ์ ทำโดยขาดความมุ่งมั่นหรือเข้าถึงเจตนาที่แท้จริง ขาดความต่อเนื่อง เราจึงเห็นบางกิจกรรมจุดพลุมาฟู่เดียวแล้วหายไปเลย ไม่รู้ว่าไปตกอยู่ตรงไหน
CSR นั้น ไม่ควรมองว่าเป็นบทบาทของนายจ้างหรือองค์การเท่านั้น แต่ควรปลุก จิตสำนึกให้ฝังลงไปในใจของพนักงานให้ทั่วด้วย ไม่ได้บังคับ แต่เป็นตามความสมัครใจ แล้วความต่อเนื่องจะตามมาจนถึงความยั่งยืน (Sustainable)ในจุดสุดท้าย เช่น โครงการลดโลกร้อน เป็นเรื่องต่อเนื่องยาวนานอย่างแน่นอน การลงมือทำในวันนี้ อาจมองเห็นผลในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า หรืออาจส่งผลต่อรุ่นลูกหลานเราก็ได้ เช่น การหาพลังงานทดแทน เป็นต้น
HR ต้องเป็นคนริเริ่มชักชวน จูงใจ ให้พนักงานหันมาให้ความสนใจในเรื่องของ CSR โดยอาจให้องค์การเป็นคนลงทุนให้ในเบื้องต้น พนักงานต้องลงแรงกายแรงใจ ก่อสานภารกิจให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน เสนอแนะกิจกรรม โดยHR เป็นผู้ประสาน งานหลัก แม้เวลาที่ภาพออกสู่สายตาสังคมชุมชน ดูเหมือนว่าองค์การจะได้ไปเต็มๆ องค์การก็ต้อง สื่อสารถึงความภาคภูมิใจ ความขอบคุณ ที่พนักงานมีส่วนทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ นี่คือวิธีปลูกฝัง
รากและต้นอ่อน CSR ให้เกิดในหมู่พนักงาน สร้างตำแหน่งงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง (CSR Officer) ซึ่งมีโอกาสโตได้จนถึง Director ทำงานร่วมกับทีมอาสาสมัคร หรือคณะกรรมการที่มาจากพนักงาน ไม่จำเป็นต้องมีลูกน้องมากมาย พนักงานจะเห็นความจริงใจและอยากสนับสนุนให้งานนี้มีอยู่ยาวนาน
นายจ้างที่ต่างประเทศนั้นมีการออกนโยบายสนับสนุนการทำกิจกรรมทำนองนี้ หรือเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถไปร่วมบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา เรียกว่า Take Charity Day Off อาจเพียงปีละวันสองวันเท่านั้น บางคนไม่อยากหยุดไปทำกิจกรรมแต่สนับสนุนหรือบริจาคเงินแทน ก็ให้จ่ายผ่าน pay roll ได้ ถ้าอยากจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนจากเพื่อนพนักงานหรือแวดวงโดยใช้ห้องประชุมของบริษัทก็ได้ นี่คือการมองการณ์ไกลของผู้บริหาร เพราะองค์การย่อมได้หน้าไปด้วย งาน CSR จึงมิใช่ภารกิจของฝ่ายจัดการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม
ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นันทวัน กิจธนาเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิตได้อธิบายว่า
ทฤษฎี Pay it forward หรือแนวคิดที่ว่า เราทุกคนสามารถสร้างโลกให้น่าอยู่ได้ โดยเริ่มทำความดีจากตัวเราเอง ช่วยเหลือคนรอบข้างที่เดือดร้อน ขณะผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็มีหน้าที่ตอบแทนโดยการส่งมอบความช่วยเหลือ ให้แก่ผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส เพียงเท่านี้การทำความดีก็จะเพิ่มขึ้นทวีคูณไม่สิ้นสุด และสามารถเปลี่ยนโลกของเราให้น่าอยู่ได้
การสื่อสารไร้พรมแดนในยุค ไซเบอร์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทฤษฎี Pay it forward นี้ชัดเจนขึ้น เช่น การส่งต่ออีเมล์เพื่อขอรับบริจาคโลหิต หรือการขอ ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ถือเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือที่สร้างปรากฏการณ์และปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น มาแล้วทั่วโลก
เราสามารถนำทฤษฎี Pay it forward มาปรับใช้ในการทำ CSR ในองค์กรธุรกิจได้ไม่ยาก โดยเริ่มด้วยการสร้างวัฒนธรรมการทำความดี ผลักดันให้เกิดเครือข่ายจิตอาสาในองค์กรอย่างกว้างขวาง โดยการสนับสนุนให้พนักงานรวมทั้งครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อ สังคมกับบริษัท และนำแนวคิดไปต่อยอดสร้างเครือข่ายการทำความดีให้กับชุมชนรอบๆ ตัวต่อไป
นิวยอร์ค ไลฟ์ อินชัวรันส์ หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตชั้นนำและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุกว่า 164 ปี เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สนับสนุนให้พนักงานและตัวแทนขายมีจิตอาสาและร่วมทำ ความดี ในรูปของกิจกรรมอาสาสมัครอย่างชัดเจน โดยได้จัดตั้งโครงการ Volunteer For Life ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 เพื่อส่งเสริมให้ พนักงาน ตัวแทนขาย และครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครทั้งที่บริษัทจัดขึ้น หรือเข้าร่วมกับองค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มากกว่าเน้นการช่วยเหลือในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเท่านั้น ซึ่งแสดงออกถึงความมีน้ำใจและความ เอื้ออาทรได้อย่างดี โดยเชื่อว่าการทำ ความดีของเครือข่ายพนักงานจะนำไปสู่สังคมแห่งการทำความดีอย่างไม่มีที่สิ้น สุด ซึ่งวัฒนธรรมนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่เครือข่าย นิวยอร์คไลฟ์ทั่วโลกด้วย
และ ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้ นิวยอร์คไลฟ์ยังเดินหน้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมโลกด้วยการริ เริ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ Global Month of Service หรือเดือนแห่งการให้ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตและได้รับการศึกษาที่ ดีขึ้น เป็นการดำเนินรอยตามพันธกิจด้านมนุษยธรรมขององค์กรที่จะยืนเคียงข้างชุมชนทั้งยามสุขและยามทุกข์เสมอ
โดย พนักงาน ตัวแทน พนักงานเกษียณอายุและครอบครัวในเครือข่ายนิวยอร์คไลฟ์ 9 ประเทศ จากสหรัฐ ละตินอเมริกาและเอเชียกว่าหมื่นคนจะพร้อมใจกันเป็นอาสาสมัครร่วมกับองค์กร การกุศลต่างๆ หรือร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมที่แต่ละประเทศจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชน ที่พิการและด้อยโอกาสพร้อมกันทั่วโลกเป็นครั้งแรกตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ เช่น ทั่วสหรัฐมีกิจกรรมอาสาสมัครได้ร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหลายแห่ง เช่น Big Brothers Big Sisters, City Year New York, Children for Children, Bereavement Center of Westchester, Blythedale Children"s Hospital, New York Cares ส่วนกิจกรรมอาสาสมัคร ได้แก่บูรณะและตกแต่งโรงเรียนให้สวยงามและแคมป์การศึกษา ในแมนฮัตตันจัดโอลิมปิกเกมส์ให้แก่เด็กในนิวเจอร์ซีย์ เยี่ยมเด็กที่ Children"s Medical Center ในเทกซัส จัดเลี้ยงอาหารเพื่อสุขภาพให้แก่เด็กๆ ร่วมกับ Ohio Children"s Hunger Alliance ในโอไฮโอ และในเนวาดาจัดชุดอุปกรณ์การศึกษาให้เด็กกว่า 1,300 คน เป็นต้น
ส่วน ในประเทศจีน ไฮเออร์ นิวยอร์คไลฟ์ได้ร่วมรำลึกครบรอบ 1 ปีของการเกิดโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวน โดยเหล่าตัวแทนพนักงานและครอบครัวได้ร่วมกับ ECYP (Developing Center of The Young Pioneers) จัดงานออกร้านจำหน่ายสินค้า ประมูล และร่วมบริจาคสิ่งของ โดยรายได้ทั้งหมดจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะมอบให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
สำหรับ ประเทศไทย ไทยพาณิชย์ นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิตได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการ Global Month of Service เช่นกัน โดยพนักงานตัวแทนและครอบครัวกว่า 150 คนจะร่วมสานต่อกิจกรรม "เติมความรู้...ปันรอยยิ้ม" ปี 2 ให้แก่น้องๆ โรงเรียนบ้านเขาตะแคง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนอุปถัมภ์แห่งแรกของบริษัท โดยต่อยอดการช่วยเหลือจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มอุ่นเครื่องกิจกรรมตั้งแต่ช่วง pre volunteer day ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมพนักงานได้ร่วมประดิษฐ์สื่อการเรียนรู้ เสริมทักษะภาษาไทย อังกฤษ การคำนวณให้น้อง การออกร้านขายของเพื่อระดมทุนการศึกษา รวบรวมสิ่งของบริจาคทั้งอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เสื้อผ้า ของเล่น อาหาร ส่วนวัน volunteer day ยังได้ร่วมกันทาสีตกแต่งห้องสมุด ซึ่งบริษัทได้บูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมด ขยายแปลงผักสวนครัว บ่อปลา ในโครงการอาหารกลางวันเพื่อน้อง ส่วนไฮไลต์เด็ดคือการจัดแคมป์การออมเพื่อให้ความรู้และปลูกฝังค่านิยมการออม แก่น้องกว่า 100 คน ภายใต้ปรัชญาการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
หาก CSR หรือการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เกิดขึ้นจากรากฐานของการทำความดีคืนสู่สังคมจริงๆ เพียงทุกองค์กรร่วมกันผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการทำดี สนับสนุนให้พนักงานมีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งเหล่านี้จะย่อมนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำ CSR อย่างแท้จริง
ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีองค์กรจำนวนมากที่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถึงขนาดเปิดให้มีการรับพนักงานในตำแหน่ง CSR OFFICER แล้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดและประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเพื่อสังคม ขององค์กร รวมถึงสนับสนุนให้พนักงานมีจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้ว นอกจากพนักงานจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมแล้วสิ่งดีๆที่จะย้อนกลับมาหาองค์กร ก็ คือความสามัคคีของพนักงาน ความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว
ที่มา:ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 7 กุมภาพันธ์ 2554 / http://www.matichon.co.th/prachachat/view_news.php?newsid=02csr03290652§ionid=0221&day=2009-06-29